xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้มใจในความเงียบ “ฝาย” จากสองมือ “นศ.หูหนวก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงของผู้คนจำนวนมากดังอื้ออึงไปทั่วบริเวณผืนป่า เขายายดา อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากระเฉด ป่าเพ ป่าแกลง

เมื่อเดินตามเสียงเข้าไป ทำให้พบว่า เสียงที่ดังมานั้นเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจ กันเพื่อทำกิจกรรมของทั้งชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ที่ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ นำก้อนหินตั้งแต่ขนาดเท่ากำปั้น จนถึงขนาดที่ต้องใช้ 2 คนแบก ส่งต่อกันเพื่อมาวางกองเรียงกันเป็นจุดๆ ตามแนวพื้นที่ทางเดินของลำธารเล็กๆ ที่แห้งขอดสายหนึ่ง เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำ ตาม โครงการ “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์น้ำร่วมกับชุมชน เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย และยังเป็นการช่วยป้องกันภาวะโลกร้อน คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้วยความร่วมใจของคนในชุมชน ประกอบกับกำลังของเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ทำให้ตลอดระยะเวลาของโครงการนั้นสามารถสร้างฝายชะลอน้ำได้มากถึง 400 ฝาย และสิ่งหนึ่งที่จะได้นอกเหนือจากการสร้างฝาย คือ การมีส่วนร่วมของเยาวชน ที่จะเป็นการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์น้ำ ให้ติดตัวเขาต่อไป และเชื่อว่าสิ่งนี้คงปลูกฝังได้ไม่ยาก เมื่อมองจากการที่เยาวชนทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของตนเองอย่างตั้งใจ และถึงแม้สภาพอากาศจะร้อนอบอ้าวเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้พวกเขาย่อท้อต่อกิจกรรมนี้แม้แต่คนเดียว เสียงหัวเราะ เสียงโห่ร้องด้วยความสนุกสนานเมื่อแต่ละฝายที่สร้างด้วยสองมือของพวกเขาเสร็จลง ฝายแล้วฝายเล่า ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดพลังบริสุทธิ์นี้ได้

นอกเหนือไปจากนี้ ในความสนุกสนาน เฮฮา และสดใสของเยาวชนนั้น ยังประกอบไปด้วยคณะนักศึกษาจาก ศูนย์การศึกษาพิเศษ ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทั้ง 25 ชีวิต ที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างฝายครั้งนี้ด้วย สิ่งที่แตกต่างกัน คือ นักศึกษากลุ่มนี้หูหนวก จึงต้องใช้การสื่อสารด้วยภาษามือ ทำให้การแสดงความรู้สึกของพวกเขาไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการโห่ร้อง สนุกสนาน หรือการส่งเสียงแต่อย่างใด ในความเงียบนั้นพวกเขากลับแสดงออกผ่านสีหน้า แววตา สองมือที่ต้องใช้สื่อสารแทนคำพูด และในขณะเดียวกัน ก็ใช้ปาดเหงื่อไปด้วย เป็นภาพที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีในความมุ่งมั่น ความตั้งใจกับงานที่พวกเขาทำในครั้งนี้ ในเมื่อขยันและตั้งใจอย่างนี้ เมื่อเสร็จงาน พักเหนื่อย ดื่มน้ำเย็นๆ จึงเริ่มสื่อสารกับตัวแทนนักศึกษาโดยผ่านล่ามใจดีที่คอยถ่ายทอดความรู้สึกของน้องๆ ให้ออกมาเป็นภาษาที่เราเข้าใจ

** เหลียวแลแหล่งน้ำผู้ให้ชีวิต
เริ่มกันที่สาวสวยอย่าง “น้องยาว” รัตนา สีนาค นักศึกษาชั้นปีที่ 2 อายุ 21 ปี บอกว่า การมาในวันนี้เพราะเห็นว่าน้ำมีความสำคัญ น้ำคือชีวิต ไม่มีน้ำ ก็ไม่มีชีวิต และการสร้างฝายก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยในการรักษาน้ำไว้ให้มีใช้ในยามแห้งแล้ง และยังทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่บริเวณนี้จะได้รับประโยชน์ อย่างมากจากการที่มีน้ำไว้ใช้ในการดำรงชีวิต

“คิดว่าในตอนนี้สิ่งที่เราทำอาจจะยังไม่เห็นผลอะไร เพราะยังอยู่ในช่วงฤดูแล้ง แต่เมื่อถึงช่วงฤดูฝนฝายที่เราทำไว้จะสร้างประโยชน์ให้แก่ที่นี่อย่างมหาศาล ฝายนี้ยังจะป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย โดยการช่วยชะลอน้ำที่ไหลลงมาจากเขา เมื่อน้ำไหลลงมาก็จะมาเก็บกักไว้ตามจุดต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นประโยชน์ทำให้คนในชุมชนมีน้ำไว้ใช้ตลอดไป” น้องยาว อธิบาย

นอกจากนี้ น้องยาว ยังบอกอีกว่า คนไทยมีความผูกพันกับแม่น้ำ ลำคลอง เพราะเป็นสายเลือดที่ใช้ในการดำรงชีวิตมาอย่างช้านาน เมื่อเรามีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายแล้ว ก็อยากให้เหลียวมองกลับมาดูแลแหล่งน้ำสำคัญนี้ด้วย

** รักษ์ป่าต้นน้ำเพื่ออนาคต
เช่นเดียวกับ “น้องนิด” สุนันท์ ลี้สุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 อายุ 23 ปี บอกถึงความสำคัญของฝาย ว่า การสร้างฝายจะช่วยฟื้นฟูและช่วยอนุรักษ์แหล่งน้ำ ทำให้ป่าบริเวณนี้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ มีสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุลและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศน์ เพราะน้ำที่ไหลลงมาจากเขา ผ่านลำธารนี้ก็จะไม่ไหลผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ แต่จะถูกดักไว้ด้วยฝายที่เราสร้างขึ้นนี้เอง

น้องนิด บอกอีกว่า ปัจจุบันนี้การดำรงชีวิตของผู้คนแต่ละครอบครัวจะมีโอกาสที่จะใช้น้ำที่บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว น้ำบริสุทธิ์ที่ว่านี้ คือ น้ำที่มาตามท่อประปา ซึ่งแต่ละครอบครัวก็ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า บางบ้านเปิดน้ำทิ้งไว้ ใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ก็เพราะความสะดวกสบายที่ไม่ต้องออกไปหาน้ำจากที่ไหน อยากใช้น้ำก็เพียงแค่เปิดก๊อก แต่ทำไมเราถึงไม่คิดที่จะอนุรักษ์น้ำที่ต้นน้ำบ้าง เพราะหากว่าเราไม่มีป่าที่เปรียบเสมือนต้นกำเนิดของน้ำ ต่อไปเราก็คงไม่มีน้ำประปาไว้ใช้อย่างสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้

“อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนมีจิตสำนึกในการช่วยกันอนุรักษ์น้ำ นอกจากนั้นคืออยากบอกไปถึงกลุ่มคนที่คิดจะตัดไม้ ทำลายป่า หรือหวังผลประโยชน์จากป่า ว่า ให้หยุดพฤติกรรมนี้เสีย เพราะอนาคตจะไม่เหลือป่าเพื่อไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ จึงอยากให้ผู้คนใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มาก และที่สำคัญคือการสร้างฝายนี้ก็เป็นพระราชดำริของในหลวง จึงอยากให้ทุกคนพร้อมใจกันอนุรักษ์น้ำเพื่อเป็นการทำความดีถวายพระองค์ท่าน ซึ่งการที่พวกเราได้มีโอกาสมาช่วยตรงส่วนนี้ทำให้เราเกิดความภูมิใจเป็นอย่างมาก” น้องนิด อธิบายพร้อมสีหน้าที่ดูจริงใจ

** ร่วมแรงสร้างฝาย ร่วมใจสามัคคี
ปิดท้ายกันที่หนุ่มลูกครึ่งหน้าไทย “น้องบลู” จอห์น ลี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 อายุ 20 ปี อธิบายไว้อย่างน่าคิดว่า สิ่งที่คิดว่ามีค่านอกเหนือกว่าการได้มีโอกาสมาสร้างฝายเพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งน้ำนั้น คือความสามัคคีของทุกคนที่ร่วมแรง ร่วมใจ กันทำงานนี้ให้เกิดขึ้น เพราะพวกเราเองถึงแม้จะมีปัญหาทางการได้ยิน แต่ก็สามารถร่วมกันทำงานกับคนปกติได้ ซึ่งมิตรภาพตรงนี้หาไม่ได้ง่ายๆ จึงทำให้ไม่คิดว่าความผิดปกติของเราจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกับผู้อื่น มาที่นี่เราได้มีโอกาสเรียนรู้การสร้างฝาย ได้ลงมือสร้างจริง และถึงแม้เราไม่ได้สื่อสารแบบเดียวกัน แต่พวกเราก็ช่วยกันสร้างฝายจนสำเร็จด้วย สองมือ สองขา ของเราเอง เพราะอวัยวะเหล่านี้ยังใช้งานได้เป็นอย่างดี

น้องบลู ยังฝากอีกว่า เราสร้างฝายกันก็เพื่อที่จะช่วยรักษาแหล่งทรัพยากรน้ำ และป่าให้คงอยู่กับเราอย่างยั่งยืน แต่ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกเรื่องก็เป็นฝีมือของมนุษย์อีกเช่นกันที่ในแต่ละวัน ยังไม่คิดจะหยุด ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการทิ้งขยะ การปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำ การทำลายป่า มนุษย์เองจึงเป็นตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะยังขาดจิตสำนึกที่เห็นความสะดวกของตนเองมากกว่าส่วนรวม จึงอยากให้ช่วยกันดูแล รักษาสาธารณประโยชน์ชิ้นสำคัญนี้ไว้ให้อยู่กับเราไปนานๆ

ด้าน อ.คมคิด ศันสนะเกียรติ ผู้ประสานงานล่ามภาษามือ จากศูนย์การศึกษาพิเศษฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำนักศึกษาที่มีความผิดปกติมาทำกิจกรรมเหล่านี้นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานเพื่อชุมชน และทำให้พวกเขาได้เข้าใจธรรมชาติ ได้สัมผัสถึงสิ่งที่ไม่มีให้จากในห้องเรียน เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้แก่ทุกคน ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูดกัน แต่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ถึงภาษากายที่ผู้คนปกติพยายามจะสื่อสารด้วย การทำงานตรงนี้ทำให้พวกเขาสนุกกันอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เองยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้สร้างคุณค่าให้แก่สังคม และตัวเขาเองก็มีค่ากับสังคมเช่นกัน

มาถึงตรงนี้คิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหล่าปัญญาชนแต่ขาดโอกาสทางการได้ยิน อยากจะบอกผ่านไปถึงทุกคนในสังคม โดยไม่ว่าจะสื่อสารออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งสิ่งที่พวกเขาสื่อสารและต้องการบอกนั้นตีความได้ไม่ยากไปกว่า “อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น” พวกเขาทุกคนร่วมมือกันสร้างฝายเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำ แล้วคุณล่ะ...ทำอะไรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมบ้างหรือยัง?



กำลังโหลดความคิดเห็น