xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ส่ง “กรณ์” ซักฟอก “เลี้ยบ-มิ่ง” แก้ศก.เหลว-ทำโอกาสเป็นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
ปชป.วางตัว "กรณ์" ชำแหละ 2 รมต.เศรษฐกิจ แก้ปัญหาล้มเหลว ทำโอกาสให้เป็นวิกฤต “หมอเลี้ยบ” ร้อนตัว ชิงออกข่าวป้ายสีการชุมนุมพันธมิตรฯ ทำตลาดหุ้นสูญเงิน 8 แสนล้านบาท โบรกฯ ชี้นายกฯ ควรลาออกได้แล้ว ก่อนถูกประชาชนร่วมพันธมิตรฯ ชุมนุมขับไล่เพิ่มขึ้น

วันนี้ (22 มิ.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมแกนนำพรรค เพื่อรวบรวมข้อมูลและกำหนดตัวบุคคลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 7 คน โดยในส่วนของรัฐมนตรีเศรษฐกิจมี 2 คน ได้แก่ นายแพทย์ (นพ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช และทีมงานเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ ได้กล่าวในรายการ “คุยนอกทำเนียบ” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ขณะนี้ ตนเองไม่สามารถที่จะทำนายอนาคตของประเทศชาติได้เลยว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและที่เห็นได้ชัดคือความเชื่อมั่น ของประชาชนและนักธุรกิจภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้สะท้อนผ่านมาหลายรูปแบบ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมดัชนีหุ้นตกต่ำลงไปร่วม 100 จุด มูลค่าของตลาดลดลง 8 แสนกว่าล้านบาท หากมีการชุมนุมยืดเยื้อต่อไปก็น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบ เมื่อควบคู่กับปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่รุมเร้าก็ยิ่งหนักหน่วง

**โบรกฯ ตะเพิด "หมัก" ออกไปได้แล้ว

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บล.แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยประเมินจากสถานการณ์ขณะนี้ การที่พรรคร่วมรัฐบาลออกมากดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เป็นการส่งสัญญาณให้ปัญหาการเมืองสิ้นสุดลง ซึ่งส่วนตัวตนเชื่อว่าปัญหาการเมืองจะจบลงด้วยดี หากมีการเปลี่ยนคณะรัฐบาล โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ หากนายสมัครไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อต่อไป ขณะเดียวกับที่จะมีผู้สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลลดลงไปเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

"ผมเชื่อว่าเหตุการณ์การเมืองครั้งนี้ ไม่น่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือการปะทะกัน เพราะมีการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย และเชื่อว่าในสัปดาห์หน้า จะเป็นระยะเวลาที่สำคัญ ซึ่งน่าจะเห็นจุดสิ้นสุดของปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ ดังนั้น สัปดาห์หน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการทยอยซื้อหุ้นได้บ้าง ส่วนแนวโน้มของนักลงทุนต่างชาติคาดว่าแรงเทขายน่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากที่ผ่านมา มีการเทขายหุ้นมามากและนักลงทุนย้ายไปลงทุนในตลาดพันธบัตรมากขึ้น โดยปัจจุบันพันธบัตรอายุ 5 ปีให้ผลตอบแทน 5.7% ถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งน่าจะเป็นระดับสูงสุด ที่ทำให้นักลงทุนย้ายการลงทุนกลับมาลงทุนในหุ้นอีกครั้ง"

นอกจากนี้ หากพิจารณาราคาหุ้นเทียบมูลค่าทางบัญชี (PVB) ที่อยู่ที่ 1.5 เท่า เป็นระดับที่ใกล้แตะจุดต่ำสุดในช่วงที่ไทยประกาศใช้มาตรการกันสำรอง ซึ่ง PVB อยู่ที่ 1.4 เท่า ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาเป็น 2 เท่าแล้ว โอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปก็มีสูง อีกทั้งหากพิจารณาปัจจัยทางเทคนิค ดัชนีหุ้นปัจจุบันน่าจะเป็นระดับต่ำสุด ซึ่งคาดว่านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ดัชนีจะกลับมาเป็นขาขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงาน เพราะมีสัญญาณการปรับขึ้นของสัญญาการซื้อขายราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า

นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ กล่าวถึง ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ว่า ดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ถึง 220 จุด หรือ 1.83% หลุดแนวรับ 12,000 จุด ปิดที่ 11,842 จุด นับเป็นการปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์)

ทั้งนี้ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ มอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์แมน แซกส์ รายงานผลประกอบการไตรมาสสองขาดทุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ซิตี้ กรุ๊ป และเมอร์ริลลินช์ เองอาจต้องตัดหนี้สูญเป็นจำนวนมากในไตรมาสสองนี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ฟื้นตามที่คาดการณ์กันไว้

"เชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจน และราคาน้ำมันดิบที่ผันผวน แม้ว่าช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง แต่คาดว่าจะเป็นเพียงการเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่ลงมาแรงก่อนหน้านี้ โดยประเมินแนวรับที่ 745-750 จุด และแนวต้านที่ 770-780 จุด ประเด็นที่ต้องติดตามยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ ได้แก่ การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมันดิบ ทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ"

สำหรับประเด็นใหม่ที่จะเข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ซึ่งต้องติดตามว่าเฟดจะส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอย่างไรในอนาคต และประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างไร ส่วนกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ นักลงทุนระยะกลางและระยะยาว แนะนำรอตลาดนิ่งกว่านี้ค่อยเข้าไปซื้อ ด้านนักลงทุนระยะสั้น แนะนำขึ้นขาย ลงซื้อ

นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ จากวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ปรับตัวบวกถึง 26 จุด แต่คงไม่ร้อนแรงเท่า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีบทสรุปไปในทิศทางใด แต่เมื่อไม่มีเหตุการณ์รุนแรงจึงช่วยคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยลบจากดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลง หลังเกิดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพรม์ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินสหรัฐฯ หลายแห่งต้องตัดหนี้สูญและอาจจำเป็นต้องเพิ่มทุน ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยในการเปิดตลาดสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ให้น้ำหนักที่สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว อาจมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศคงให้น้ำหนักการการประชุมเฟดช่วงกลางสัปดาห์นี้ แม้ตลาดคาดการณ์ว่าการประชุมของเฟดครั้งนี้จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ขยายตัวใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ แต่จะต้องติดตามว่าเฟดจะมีนโยบายออกมาอย่างไร

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันดิบยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจะสามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์เรื่องอัตราเงินเฟ้อลดลงได้ระดับหนึ่ง รวมถึงทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าสัปดาห์นี้แรงขายน่าจะเบาลงแล้ว แต่คงยังไม่กลับมาซื้อสุทธิ

สำหรับการประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีโดยมีแนวรับที่ 750 จุด และแนวต้านที่ 780 จุด หากหลุดแนวรับดังกล่าวจะมีแนวรับถัดไปที่ 730 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยช่วงนี้จะแกว่งตัวผันผวนปรับขึ้นลงแรง ดังนั้นนักลงทุนต้องมีความระมัดระวังในการลงทุน สำหรับกลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนระยะกลางและระยะยาว แนะนำเลือกเก็บหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาปรับลดลงมาก ส่วนนักลงทุนระยะสั้น ต้องมีความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากตลาดแกว่งขึ้นลงแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น