xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อกดหุ้นเอเชียทรุดต่อ สัปดาห์หน้า ธปท.ผวาไทยทะลุ 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์คาดตลาดหุ้นในเอเชีย สัปดาห์หน้า ยังร่วงต่อเนื่อง โดยมีต้นเหตุจากความวิตกกังวลอัตราเงินเฟ้อ พร้อมแนะจับตาการเก็งกำไรตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันแตะ 160 ดอลลาร์/บาเรล ได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่แบงก์ชาติของไทย ระบุหลายปัจจัยยังเร่งภาวะเงินเฟ้อเกิน 10% ชี้มาตรการดบ. อาจถึงทางตันในการประชุมฯ 16 ก.ค.นี้

วันนี้ (13 มิ.ย.) ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยังมีแนวโน้มว่าจะร่วงลงต่อเนื่องอีกในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันดิบที่อยู่ใกล้ระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า นายเชน โอลิเวอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็มพี แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า ขณะที่วิกฤตสินเชื่อยังไม่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย แต่ก็มีความเสี่ยงสูงว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยได้ โดยความต้องการน้ำมันที่แข็งแกร่งจากประเทศอุตสาหกรรมอย่างจีนและอินเดีย และภาวะตึงตัวด้านอุปทาน ตลอดจนกระแสการเก็งกำไร ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายโอลิเวอร์ กล่าวยอมรับว่า กลุ่มนักเก็งกำไรมีบทบาทสำคัญในเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งแนวโน้มของราคาในระยะสั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณ์ โดยราคาน้ำมันอาจจะดีดตัวถึง 160 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับตัวลงเล็กน้อย

ขณะที่นายแดเนียล แม็คคอร์แมค นักยุทธศาสตร์ของแมคควอรี อิควิตีส์ กล่าวว่า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลหลักๆให้กับนักลงทุน แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านราคาโดยเฉพาะในจีนอาจจะอ่อนตัวลง

ทั้งนี้ ประเทศจีน ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค. โดยระบุว่า มีการขยายตัวแค่ 7.7% ต่อปี ลดลงจากระดับเดือน เม.ย.ที่ระดับ 8.5%

นายแม็คคอร์แมค กล่าวว่า มีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และแบงค์จีน ซึ่งความต้องการภายในประเทศจีนจะยังคงสดใสอยู่มาก นักลงทุนคาดว่าจะยังคงระมัดระวังการซื้อขายในตลาดหุ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ธปท.ผวาเงินเฟ้อทะลุ 10% แนะจับตาการประชุม 16 ก.ค.นี้

สำหรับภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย มีความเห็นจากนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ผลตอบแทนจากเงินออมที่ลดลง และการเร่งการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น อาจกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับตัวเลขสองหลักได้

นายธาริษา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงนี้ เป็นไปไม่ได้ เพราะจะไปกระตุ้นการใช้จ่าย และกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้น

นางธาริษา ยังตอบคำถามที่ว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ จะปรับขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักหรือไม่ โดยนางธาริษา หยิบยกสมมุติฐานในแง่จิตวิทยา โดยชี้ว่า หากคนทั่วไปมองว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปเยอะ คนก็จะเร่งใช้จ่าย เพราะฉะนั้นมันเป็นไปได้

"ก็แน่นอน ต้องพยายาม ต้องดูแลเรื่องของเงินเฟ้อไม่ให้สุดโต่งอย่างนั้น(เงินเฟ้อเลขสองหลัก) หรือไม่ให้สูงกว่า 10%"

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายธาริษา ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและส่งผลให้เงินเฟ้อยิ่งเพิ่มขึ้นอีก

"การลดดอกเบี้ย จะยิ่งกระตุ้นการใช้จ่าย ดังนี้น เงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้ว่า ขณะนี้ไม่ว่าจะดูไปประเทศไหนก็ตามในตอนนี้ จะพบว่าเกือบทุกประเทศ ต่างแห่ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย"

นางธาริษา ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศลดดอกเบี้ยหลายละรอก แต่ว่าเขาลดเพราะเกือบเข้าสู่สภาพ recession ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดว่าเป็นยังไง แต่แม้ว่ามีความกังวลตรงนี้ขณะนี้เขาเริ่มเห็นความจำเป็นที่ต้องดูแลเงินเฟ้อมากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ในการที่จะมีการลดดอกเบี้ย มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มันขัดกับสิ่งที่ควรจะทำ

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร(อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 3.25% ขณะที่เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริง ขณะนี้ติดลบอยู่ 4.54% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปีและพร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสม หากเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้น โดย กนง.จะประชุมครั้งต่อไป 16 ก.ค.นี้

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า การดูแลเงินเฟ้อ ธปท.เป็นหน่วยงานเดียวที่ต้องดูแลเรื่องนี้ ซึ่งหากไม่สร้างความมั่นใจตรงนี้ว่ามีคนดูแลเงินเฟ้อ ก็จะเกิดจิตวิทยาดังที่กล่าวไว้เงินเฟ้อก็จะไปไม่หยุด

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ค.51 เพิ่มขึ้น 7.6% จากเดือน พ.ค.50 และ เพิ่ม 2.1% จากเดือน เม.ย.51 ตามรายจ่ายช่วงเปิดภาคเรียน และค่าขนส่งที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ CPI เพิ่มขึ้น 5.8% และเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 51 จะอยู่ที่ระดับ 4.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย อยู่ที่ 1.5-2.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น