xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฯแจ้งเก็บเงินสมทบงวดสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนฟื้นฟูฯ เรียกสถาบันการเงินชี้แจงเงินนำส่งเข้ากองทุนงวดสุดท้ายของเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเงินนำส่งแค่ 41 วัน หลังจากนั้นจะปรับบทบาทสถาบันคุ้มครองเงินฝากดูแลเรื่องเงินนำส่งแทนตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่มาใช้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุน ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฯได้เชิญตัวแทนจากสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างประเทศ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จำนวน 42 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเป็นงวดสุดท้าย ก่อนที่จะนำพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉบับใหม่มาบังคับใช้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่การคุ้มครองเงินฝากจะเปลี่ยนบทบาทจากกองทุนฟื้นฟูฯ ไปเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากแทน

ดังนั้น สถาบันการเงินจะต้องคำนวณเงินกองทุนที่จะนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูฯงวดสุดท้าย ในระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-10 ส.ค.51 จำนวน 41 วัน ของฐานเดือนมิ.ย.ซึ่งปกติแล้วกองทุนฟื้นฟูฯจะคำนวณเงินนำส่งแบ่งเป็น 2 งวด คือ สิ้นเดือนมิ.ย.และธ.ค.ของทุกปี ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องนำส่งเงินสมทบในอัตรา 0.2%ของเงินฝากเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ในแต่ละงวด และคาดว่าสถาบันการเงินจะนำส่งเงินฝากดังกล่าวภายในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ส่วนสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคำนวณอัตราส่วนเงินนำส่งในอัตราเท่าใดนั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการตกลงเรื่องนี้กันอยู่ว่าจะใช้ยอดถัวเฉลี่ยแบบรายวันหรือรายเดือน

“หลังจากวันที่ 11 ส.ค.นี้แล้วกองทุนฟื้นฟูฯ จะยุติการทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝาก ซึ่งในช่วงนี้หากสถาบันการเงินรายใดในระบบมีปัญหาก็ไม่เกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูฯแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปรับบทบาทคุ้มครองเงินฝากมาเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากแทนมีความพร้อมพอสมควร โดยตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ผ่านในช่วงเดือนธ.ค.ก็มีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มาดูแลส่วนนี้ ขณะเดียวกันกองทุนฟื้นฟูฯเองก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องเงินนำส่งนี้ทั้งชุดไปร่วมเป็นทีมงานด้วย จึงเชื่อว่าทุกอย่างจะไม่มีปัญหา”

ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ได้ระบุไว้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯจะต้องปิดตัวเองในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 56 โดยส่วนที่เป็นรายได้หลักมาจากการขายทรัพย์สิน การลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร เงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันก็มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯที่ออกไป ซึ่งมีอายุ 2 และ 4 ปี ซึ่งมีอายุพันธบัตรปีสุดท้ายที่ครบอายุการไถ่ถอนในปี 54 ก่อนการปิดตัวของกองทุนฟื้นฟูฯ

“การที่กองทุนฟื้นฟูฯจะลงทุนอะไรได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่างในการตรวจสอบทั้งเกณฑ์ Check and Balance หลังจากนั้นต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) เพื่อยืนยันวิธีที่ถูกต้อง และต้องผ่านบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ อีกครั้งหนึ่งถึงจะส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น