xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก ตลท.-แบงก์ชาติ ชี้การเมืองไม่นิ่งเป็นเรื่องปกติ-ต่างชาติเน้นปัจจัยพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊ก ตลท.ชี้ นักลงทุนต่างชาติมองการเมืองไทยไม่นิ่งเป็นเรื่องปกติ “ธาริษา” ยันการค้านแก้ไข รธน.เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่าง แต่ควรเคารพกรอบกติกา ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลได้แก่ ความผันผวน ศก.โลก และราคาน้ำมัน

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ สายงานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ โดยระบุว่า ปัญหาการเมืองในระยะนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยและบริษัทจดทะเบียนโดยตรง แต่อาจทำให้การลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) เกิดความล่าช้า ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

“ผมมองว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติและบริษัทจดทะเบียนก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมือง แต่กังวลว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้โครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ ต้องล่าช้าออกไป”

นายวิเชฐ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เชื่อว่า นักลงทุนรับสถานการณ์ได้เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 แล้ว และบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ก็ปรับตัวตามสภาวะน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น เห็นได้จากผลประกอบการที่ออกมาในไตรมาส 1/51 ยังอยู่ในระดับที่ดี

ส่วนปัจจัยเรื่องของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจากราคาน้ำมันนั้น มองว่า หากอัตราเงินเฟ้อไม่สูงไปกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปีนี้คาดว่าจะโต 5.00-6.25% ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะมีการประกาศออกมาใหม่ เร็วๆ นี้ ก็เชื่อว่าน่าจะส่งผลดี หากไม่ใช่การอุดหนุนราคาน้ำมัน

“ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเท่าที่ดูตัวเลขยังไม่กระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกโตกว่าปีที่ผ่านมา โดยมียอดรวมกำไรอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท”

โดยวานนี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดการสัมมนา “เจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจไทยและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน” โดยยอมรับว่า เศรษฐกิจยังมีความผันผวนและยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายในประเทศ คือ เรื่องการเมือง ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการเสนอแก้ไขรัธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หากดำเนินไปตามกรอบกติกา ก็จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของภาคธุรกิจ ซึ่งหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกรอบกติกา นักลงทุนและนักธุรกิจยอมรับได้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากภาวะราคาน้ำมัน ราคาอาหารที่แพงขึ้นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนที่เริ่มจะแผ่วลง รวมทั้งการส่งออกที่มีการขยายตัวในทิศทางชะลอลงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเพียงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนปัจจัยนอกประเทศที่ยังต้องติดตามคือปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยและฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังไม่ยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดเฉพาะภาคการเงิน เพราะผลพวงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังไม่แน่นอน ยังมีผลกระทบต่อการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งจะต้องระวังทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า จึงควรที่จะป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น