xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ให้เครดิตหุ้นกู้KTBที่AA(tha)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์เรทติ้งส์ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ 2 ชุด มูลค่ารวมไม่เกิน 2.5 หมื่นล้าน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2561 ของธนาคารกรุงไทยที่ระดับ AA(tha) โดยมีพื้นฐานจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นเท่าตัว

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จำนวน 2 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2561 ที่จะออกโดยธนาคารกรุงไทย หรือ KTB โดยหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดมีมูลค่ารวมไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาทและธนาคารยังมีส่วนสำรองไว้เพื่อเสนอขายเพิ่มเติมอีก 3 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อ 18% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ถือหุ้นในสัดส่วน 55% เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของ KTB รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฟิทช์ KTB ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 35% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆประมาณครึ่งหนึ่ง

โดยหนี้ด้อยคุณภาพของ KTB เพิ่มขึ้นเป็น 1.022 แสนล้านบาทหรือ 11.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551 จากระดับ 9.66 หมื่นล้านบาท หรือ 11.1% ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้ที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในขณะที่ KTB มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมดเพียงแค่ 3.52 หมื่นล้านบาท โดย KTB คาดว่าจะสามารถลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลงมาที่ระดับ 8% ในสิ้นปี 2551 โดยการปรับโครงสร้างหนี้และการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม

นอกจากนี้ กำไรก่อนการกันสำรองหนี้สูญและอัตราเงินกองทุนของ KTB ยังคงแข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 10.97% ของสินทรัพย์เสี่ยงถ่วงน้ำหนักเฉลี่ย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ยังต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มอีกลงได้บางส่วน การขยายตัวของสินเชื่อและการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์ Basel II น่าจะทำให้เห็นอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB ลดลงบ้างในอีก 2 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น