xs
xsm
sm
md
lg

ผวาเงินเฟ้อทะลุ 8% ชี้ศก.ครึ่งหลัง 51 ชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการชี้ ไทยเข้ายุคเงินเฟ้อสูง ควบคู่เศรษฐกิจชะลอตัว ชี้ไตรมาส 2-3 คนไทยอาจได้เห็นเงินเฟ้อทะลุ 8% จีดีพีโตไม่ถึง 6% แน่นอน แนะใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ-เงินเดือน ชี้ราคาอาหารแพง 60-70% กระทบค่าใช้จ่ายครัวเรือน 30-50% ของรายได้เฉลี่ย 1.4 หมื่นบ. ส่วนปัญหาค่าเงินบาท หากอ่อนเกินไป ราคาน้ำมันอาจทะลุ 50 บ.

วันนี้ (16 พ.ค.) นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงพร้อมกับเศรษฐกิจชะลอตัว หรือ Stagflation ในครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม เพราะอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ในระดับร้อยละ 6.2 ยังไม่ใช่เงินเฟ้อที่สูงสุด เงินเฟ้อสูงที่สุดจะเกิดขึ้นไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ โดยบางเดือนอาจทะลุร้อยละ 8 และจะอยู่ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

นอกจากนี้ การที่สถาบันวิจัยต่างประเทศหลายแห่งคาดว่าราคาน้ำมันอาจขยับถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายใน 2 ปี ดังนั้น นโยบายการเงินของประเทศไม่ควรเข้มงวด ไม่ควรเพิ่มอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เช่นนี้การปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือน และค่าตอบแทนเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า เพราะประชาชนมีการก่อหนี้มากหากรายรับไม่เพิ่มจะเกิดปัญหาสังคมตามมา ทั้งนี้ ขอสนับสนุนการที่แรงงานจะขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 233 บาท

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ขยายตัว ร้อยละ 6 น่าจะเป็นอัตราที่เติบโตสูงสุดของปีนี้แล้ว ที่เหลืออีก 3 ไตรมาสน่าจะต่ำกว่านี้ โดยไตรมาส 2 อาจเป็นช่วงเศรษฐกิจไทยต่ำสุดจากปัจจัยเสี่ยงการเมือง หากผ่านไปได้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจจะขยับขึ้น เพราะมีสัญญาณเศรษฐฏิจสหรัฐเริ่มดีขึ้น แต่อาจเป็นปัจจัยชั่วคราว เช่น ดอลลาร์แข็ง เงินบาทอ่อน

ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบทำให้น้ำมันแพงและเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงมาก เพราะหากเงินบาทมีค่าเหมาะสมจะบรรเทาปัญหาน้ำมันแพงได้ หากเงินบาทอ่อน 35-36 บาทต่อดอลลาร์ จะเห็นราคาน้ำมันลิตรละ 50 บาท ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐจำเป็นต้องจัดรัฐสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น การบริการรถฟรี เป็นต้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ร้อยละ 20 -70 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือน เพราะมีรายจ่ายค่าอาหารเท่ากับประมาณร้อยละ 30-50 ของรายได้ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14,215 บาทต่อเดือน สำหรับนโยบายข้าวนั้น ต้องแทรกแซงราคา ถ้าข้าวสารแพงก็ต้องปรับโครงสร้างตลาดข้าวให้เป็นธรรมกับผู้ผลิตมากขึ้น ส่วนส่งออก คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่มาก ในขณะที่ดุลการค้าอาจขาดดุลหรือเกินดุลไม่มากนัก

สำหรับสิ่งที่ควรดำเนินการ คือ เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเปิดเสรีเพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และต้องยอมให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาขาย โดยผู้ผลิตต้องปรับตัวและหากจำเป็นก็ควรเปิดเสรีแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น