xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯธปท.เตรียมชำแหละNPL หมอเลี้ยบโวเพิ่มเงินเดือนสยบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมอเลี้ยบ" ระบุเอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 64% จิ๊บจ๊อยแค่เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนก็แก้ปัญหาได้ แจงราคาสินค้าแพงเป็นตัวผลักดันทางจิตวิทยาให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้น จี้แบงก์ชาติเฝ้าระวังใกล้ชิด "ธาริษา" ไม่ประมาท ขอดูรายละเอียดประเภทสินเชื่อ ชี้เอ็นพีแอลยังไม่น่าตกใจ เพราะฐานสินเชื่อขนาดใหญ่ย่อมมีหนี้เพิ่มขึ้นตาม บิ๊กกสิกรไทยยันไม่น่าห่วงเพราะแบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของของสินเชื่อบุคคล ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งสูงถึง 64% ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้โดยได้หามาตรการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนให้มีสัดส่วนใกล้เคียงหรือเท่ากับรายจ่ายก็น่าจะแก้ปัญหานี้ได้

"เมื่อมีตัวเลขหนี้เสียจากสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเพิ่มรัฐบาลก็แก้ปัญหาโดยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและทำให้เร็ว ซึ่งยอมรับว่าในช่วงเดือนมีนาคมค่าครองชีพของประชาชนเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่อยู่ที่ระดับ 100 เหรียญต้นๆ อาจยังพอรับได้ แต่ในปัจจุบันเพียงเดือนกว่าๆ ราคาน้ำมันเพิ่มสูงถึง 120 กว่าเหรียญซึ่งถือว่าเร็วมาก รัฐบาลจึงต้องรีบหามาตรการออกมาแก้ไขโดยเร็ว"

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของเอ็นพีแอลในสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตนั้นถือว่าสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลง เงินในกระเป๋าของประชาชนลอลง ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากราคาสินค้าแทบทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้นอาจส่งผลใจเชิงจิตวิทยาทำให้ประชาชนรู้สึกว่าต้องประหยัดมากขึ้นลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลงและทำให้รู้สึกว่าอยากเก็บเงินสดไว้ก่อนสักระยะแล้วจึงค่อยชำระหนี้ทีหลัง

"ตัวเลขเอ็นพีแอลที่ออกมานั้นอาจสูงจนน่าตกใจแต่เมื่องมองในแง่ดีก็ถือว่ายังไม่มีความร้ายแรงมากนัก เพราะเศรษฐกิจยังพอไปได้ ตัวเลขส่งออกและอื่นๆ ยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่ แต่ก็ยังไมาสามารถไว้วางใจได้เต็มที่ 100% แบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ติดตามดูแลเรื่องนี้จะต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดหากมีสัญญาณว่าจะมีปัญหารุนแรงใดๆ ออกมาจะต้องแร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม" แหล่งข่าวกล่าว

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดของเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ก่อนว่าน่าจะเกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทใด เพราะปัจจุบันสินเชื่อนี้มีหลากหลายประเภททั้งสินเชื่อบ้านหรือบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อบุคคลยังขยายตัวได้ดีอยู่ในขณะนี้ และการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มที่เมื่อใดปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้นหนี้เอ็นพีแอลก็เพิ่มมากขึ้นตาม จึงไม่อยากให้โยงว่าเป็นปัญหาจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงานข้อมูลสินเชื่อส่วนบุคคลล่าสุดสิ้นเดือน มี.ค. โดยในส่วนของสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปหรือเริ่มก่อเป็นหนี้เอ็นพีแอลจำนน 9,580 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 1,799 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23.12% โดยเป็นหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทย 3,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,514 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 64.45% ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์มีทั้งสิ้น 4,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% และหนี้ในส่วนของสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 8.06% ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างที่ 1,632 ล้านบาท

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารฯ ในส่วนของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง แม้ว่า ธปท. จะระบุว่าเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตจะมีการเพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม เนื่องจากธนาคารได้มีการปรับนโยบายการปล่อยกู้ในบางส่วน เช่น เกณฑ์การพิจารณารายได้ขั้นต่ำ ซึ่งสินเชื่อบุคคลธนาคารไม่ได้เน้นการปล่อยกู้มากนัก และทำด้วยความระมัดระวังมาโดยตลอด ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อย 100,000 ล้านบาท ในเป็นการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 90 % และยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นพีแอลเนื่องจากตามปกติประชาชนถือว่าบ้านเป็นสิ่งสำคัญจึงต้องพยายามรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด

ส่วนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยสุทธิปีนี้อยู่ที่ 10-12% เชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย สำหรับการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 4 % หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 10-15% และคาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้เกินกว่า 10% ขึ้นไปแน่นอน โดยขณะนี้พอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารมีอยู่กว่า 800,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อรายใหญ่ 700,000 ล้านบาท และเป็นสินเชื่อรายย่อยกว่า 100,000 ล้านบาท

"เกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตของแบงก์ได้มีการกำหนดเกณฑ์ใหม่บางส่วน ซึ่งจะเข้มงวดกว่าที่นอนแบงก์ทำ และจากการรายงานตัวเลขเอ็นพีแอลล่าสุดก็ยังไม่มีการเพิ่มขึ้นที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะเราใช้นโยบายที่ระมัดระวังมาก แม้ว่าค่าครองชีพจะมีการเพิ่มสูงขึ้นมาก"

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ถือเป็นปัญหาระดับสากล ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยประสบอยู่เพียงแห่งเดียว โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาเชื้อเพลิง ราคาอาหาร ที่เป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีพของประชาชน ส่วนแนวโน้มเชื้อเพลิงก็คงจะสูงขึ้นและอาหารส่วนหนึ่งคงจะมีการเก็งกำไรบ้าง สำหรับการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการนั้นก็คงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง.
กำลังโหลดความคิดเห็น