xs
xsm
sm
md
lg

ประกันฯรุกคืบกระเป๋าคนไทย ลุ้น6บริษัทนำร่องเข้าตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดทุนจับมือ 6 องค์กรธุรกิจประกันภัย ผลักดันโครงการพัฒนาตลาดทุนและธุรกิจประกันภัยไทย สร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ รองรับการวางแผนทางการเงินของประชาชน “หมอเลี้ยบ” ระบุหากผลักดันสำเร็จจะช่วยลดภาระรัฐบาลในการดูแลประชากรสูงวัย ขณะที่ “ภัทรียา” เชื่อภายใน 1-2 ปี จะผลักดันบริษัทประกันเข้าซื้อขายในตลาดได้ 6-7 บริษัทและแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนทั้งหมดได้ใน 5 ปี

วานนี้ (14 พ.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตลาดทุนและธุรกิจประกันภัยไทยระหว่าง 6 องค์กรในธุรกิจประกันภัย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิต สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสถาบันประกันภัยไทย และ 2 หน่วยงานจากภาคตลาดทุน ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยและตลาดทุน มุ่งพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร และสนับสนุนการเกิดนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการของทั้งภาคตลาดทุนและธุรกิจประกันภัยซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนทางการเงิน (Financial Planning) ที่สำคัญของประชาชนต่อไป

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตลาดทุน และธุรกิจประกันภัยไทย เป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนตลาดการเงินยุคใหม่ที่บูรณาการความร่วมมือของภาคการเงินภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง เป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการทำงานระหว่างหน่วยงานโดยส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนให้สอดประสานกัน ลดช่องว่างทั้งในแนวลึกของหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจ และในแนวกว้างระหว่าง 2 ธุรกิจสำคัญคือตลาดทุน และประกันภัย เป็นการผนึกกำลังรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้บริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ

“ธุรกิจประกันถือเป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่มากที่มีส่วนในการสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนและเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง โดยเงินออมในระบบทั้งหมด เป็นสัดส่วนของเงินจากธุรกิจประกันถึง 16% หากสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาตลาดการลงทุนให้มีศักยภาพได้ ในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้าจะสามารถสร้างหลักประกันสะสมความมั่งคั่งให้กับประชาชนและแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้สูงอายุได้ในระดับหนึ่งด้วย” นพ.สุรพงษ์กล่าว

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยและลูกค้า เป็นการเปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการพัฒนาวิชาชีพนักวางแผนการเงินเพื่อการบริการครบวงจรแก่ผู้บริโภคซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยซึ่งคาดว่าในปี 2551 เบี้ยประกันรับรวมจะสูงถึง 230,000 ล้านบาท และมีการขยายตัวของกรรมธรรม์ประกันชีวิตเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 16 ล้านกรมธรรม์ ทำให้การประกันภัยมีความสำคัญในฐานะทางเลือกในการออมและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. มีความยินดีอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อผลักดันการพัฒนาตลาดการเงินและธุรกิจประกันภัยไทย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อเชื่อมารทำงาน ทั้งในระดับหน่วยงานกำกับดูแล และการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยที่ในอนาคตย่อมมีบทบาทและความเกี่ยวข้องกับตลาดทุนมากขึ้น ซึ่งนับว่าเอื้อต่อการประสานการทำงานด้านการกำกับดูแล การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้รองรับกับพัฒนาการของธุรกรรม ที่จะมีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า การประสาน 2 ภาคธุรกิจเข้าด้วยกันเพื่อทำงานร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ การผลักดันและพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆโดยจะมีการทำงานร่วมกันทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพประเภทตัวแทนประกันภัยที่มีอยู่ถึงกว่า 3 แสนคน ให้พัฒนาสู่การเป็น Financial Planer รวมถึงจะมีความร่วมมือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การออกกรมธรรม์ควบหน่วยลงทุน Unit Linked Life Insurance Policy เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการสร้างสินค้าใหม่สำหรับผู้ลงทุน

“ ปัจจุบันบริษัทประกันภัยมีการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือ 12.6% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดที่มีมากถึง 9 แสนล้านบาท การทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนของบริษัท ประกันภัยให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น จะเปิดโอกาสและช่องทางการบริหารทรัพย์สินของบริษัทประกันภัยได้มากขึ้นรวมทั้งส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการด้านการเงินในอนาคตที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นด้วย เพราะในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการลงทุนกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต”

นางภัทรียากล่าวว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าตั้งเป้าที่นำบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 6-7 บริษัท นอกจากนี้ตามกฎหมายของบริษัทประกันภัยยังกำหนดให้ต้องเป็นบริษัทมหาชนภายใน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะมีบริษัทใหม่เข้าระดมทุนในตลท.อย่างแน่นอน

ส่วนปัญหาสภาพคล่องของหุ้นในกลุ่มประกันภัยเชื่อว่าน่าจะมาจากหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งผลประกอบการยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงทำให้นักลงทุนที่มีหุ้นดังกล่าวถือลงทุนในระยะยาว ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวบริษัทประกันภัยควรจะให้ความร่วมมือกับ ตลท.ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น