xs
xsm
sm
md
lg

BBLAM จ่อฮุบ TFUND จาก ING

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ไทคอน"เตรียมเปลี่ยนมือบริหาร หลัง"แบงก์กรุงเทพ" ควง "กรุงเทพประกันชีวิต" แท็คทีมยื่นขอมติผู้ถือหน่วยรายอื่นให้บลจ.บัวหลวงเข้ามาบริหารจัดการแทน "ไอเอ็นจี"ที่ดูแลมาร่วม 3 ปี "มาริษ" ชี้ตามหนังสือชี้ชวนกองทุนต้องจ่ายชดเชยอีก 16 ล้านบาทสำหรับ 2ปีที่เหลือ ค่าเปลี่ยนบลจ. ส่วนภาพรวมไม่กระทบเม็ดเงินเอ็นเอวีภายใต้การบริหารของบริษัทแน่ เหตุเตรียมทยอยออกของใหม่ต่อเนื่อง ด้าน"วรวรรณ"ระบุหากได้ไฟเขียวจากผู้ถือหน่วย พร้อมควักจ่ายแทนไร้ปัญหา การันตีทีมงานใหม่ที่เข้ามาดูแลระดับมือโปร พร้อมรุกขยายตลาดต่อ ด้วยการเล็งตั้งอีก 2 กองทุนเข้าตลาด

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีผู้ถือหน่วยลงทุนของ TFUND จำนวน 2 ราย คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ซึ่งถือหน่วยลงทุนในกองทุนจำนวน 3.79% และบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหน่วยลงทุนในกองทุนจำนวน 7.10% รวมสัดส่วนการถือหุ้นของทั้ง 2 รายคิดเป็น 10.89% ได้นำส่งหนังสือถึงบริษัทฯ โดยมีความประสงค์จะให้บริษัทดำเนินการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนให้มีการแก้ไขโครงการจัดการกองทุน ด้วยการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนจากบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) เป็น บลจ.บัวหลวงให้เข้ามาทำหน้าที่บริษัทจัดการกองทุนดังกล่าวแทน

ทั้งนี้ บริษัทจัดการจึงเห็นสมควรให้มีหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติครั้งที่ 2/2551 ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนลงมติกลับมาภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2551 และบริษัทจัดการจะรวบรวมผลของมติเวียนและแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2551 โดยเมื่อได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนให้เปลี่ยนบริษัทจัดการและนายทะเบียนและแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนแล้ว บริษัทจัดการจะดำเนินการขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแจ้งตลท.ต่อไป

สำหรับการขอมติครั้งนี้ บริษัทจัดการได้กำหนดวาระดังต่อไปนี้ วาระที่ 1. พิจารณาการเปลี่ยนบริษัทจัดการและนายทะเบียน และการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการลงทุน , วาระที่ 2 พิจารณาแก้ไขโครงการจัดการลงทุนเรื่องเงื่อนไขการเปลี่ยนบริษัทจัดการ (โดยให้ลดระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่บริษัทจัดการลง) และวาระที่ 3. พิจารณาเรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)โดยบริษัทจัดการจะจัดส่งหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ พร้อมเอกสารประกอบให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน พร้อมกับการจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่ตลท. 14 วันล่วงหน้าก่อนวันที่กำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนลงมติดังกล่าว ซึ่งบริษัทจัดการจึงขอแจ้งวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนเพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนในการลงมติในวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าการลงมติดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

" เมื่อตอนก่อนจัดตั้งกองTFUND ขณะนั้นทาง บลจ.บัวหลวงยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จึงโอนมาให้ทางบลจ.ไอเอ็นจี บริหารจัดการแทน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราเองก็สามารถบริหารจัดการให้กองทุนดังกล่าวมีมีผลตอบแทนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อมีผู้ถือหน่วยตามจำนวนที่กำหนดมาขอเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องจัดการขอมติผู้ถือหน่วยเกี่ยวกับเรื่องนี้" นายมาริษ กล่าว

อย่างไรก็ตามหนังสือชี้ชวนของโครงการได้กำหนดไว้แล้วว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ถ้ามีเหตุให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบริษัทจัดการ โดยที่บริษัทจัดการเดิมไม่ได้ทำความเสียหาย กองทุนจะต้องจ่ายเงินค่าบริหารจัดการเต็มจำนวนระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในส่วนของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) เองได้บริหารจัดการ TFUND มาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี คงเหลือระยะเวลาตามกำหนดอีกประมาณ 2 ปีที่กองทุนจะต้องจ่ายเงินค่าบริหารจัดการให้แก่บลจ.คิดเป็นวงเงินประมาณ 16 ล้านบาท โดยล่าสุด วงเงินดังกล่าวทางบลจ.บัวหลวงได้แสดงความจำนงค์ที่จะจ่ายให้แก่บลจ.ไอเอ็นจี แทนแล้ว

" แม้ว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอนจะต้องเปลี่ยนแปลงบริษัทจัดการไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.ไอเอ็นจี มากนัก เนื่องมาจากหลังจากนี้ทางบลจ.ยังคงมีแผนที่จะออกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว"

ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ขณะนี้บลจ.บัวหลวง มีความพร้อมที่จะรับบริหารจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอนต่อจากทางบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) โดยในเร็วนี้ ทีมงานและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะเข้ามาดำเนินงานกับบริษัทแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าว่าจะสามารถบริหารจัดการกองทุน TFUND ให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

"เรื่องค่าปรับให้แก่ทางบลจ.ไอเอ็นจี ทางบริษัทยินดีที่จะจ่ายให้ เพื่อตัดรายจ่ายของกองทุน เพื่อที่ผู้ถือหน่วยและกองทุนจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเรื่องดังกล่าว และนอกจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอนแล้ว บริษัทก็ยังมีความสนใจออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อีก โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจำนวน 2 กองทุน "นางวรวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) ปรากฎรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนดังต่อไปนี้ อันดับ 1 บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยจำนวน 120,263,000 หน่วย คิดเป็น 21.29 % , อันดับ 2 AYUDHYA ALLIANZ C.P. LIFE PUBLIC COMPANY ถือหน่วยจำนวน 52,067,878 หน่วย คิดเป็น9.22% , อันดับ 3. Ge Real Estate Investment Holdings ถือหน่วยจำนวน 50,000,000 หน่วย คิดเป็น 8.85% , อันดับ 4 บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยจำนวน 40,103,250.00 หน่วย คิดเป็น 7.10%

อันดับ 5 STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY FOR LONDON ถือหน่วยจำนวน 30,400,000 หน่วย คิดเป็น 5.38% , อันดับ 6 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยจำนวน 28,366,600 หน่วย คิดเป็น 5.02% , อันดับ 7 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยจำนวน 21,400,000 หน่วย คิดเป็น 3.79% , อันดับ 8 สำนักงานประกันสังคม ถือหน่วยจำนวน 20,067,000 หน่วย คิดเป็น 3.55% , อันดับ 9 BANK SARASIN-RABO (ASIA) LTD ถือหน่วยจำนวน 14,780,000 หน่วย คิดเป็น 2.62% และอันดับ 10 บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือหน่วยจำนวน 12,169,375 หน่วย คิดเป็น 2.15%

รายงานข่าวจาก LIPPER ระบุว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 กองทุนมีมูลค่าโครงการ 6091.73 ล้านบาท สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี 1.24% สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 1.24% , ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน 3.76% และผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 7.85%
กำลังโหลดความคิดเห็น