xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.การันตีฐานะกลุ่มเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ.ยันวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ลามถึงยุโรป ไม่กระทบบริษัทประกันภัยไทย ย้ำเมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย ยังฐานะดี มั่นคง มีเงินกองทุนมากกว่ากฎหมายกำหนด ผู้เอาประกันเบาใจได้ ยันคปภ. มีมาตรการติดตามบริษัททุกรายใกล้ชิด การันตีจนถึงขณะนี้ไม่มีรายใดมีปัญหา พร้อมเสนอคลังชงรัฐบาลอนุมัติตั้งกองทุนหมื่นล้านช่วยเหลือผู้เอาประกันหากวิกฤตลุกลามไม่หยุด

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงกรณีธนาคารฟอร์ติส จากกลุ่มประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ประสบปัญหาทางการเงินว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เนื่องจากผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย คือ ฟอร์ติส อินชัวรัน อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นในส่วนของประกันภัยไม่ใช่ธนาคาร

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาลุกลามขึ้นมาจริง ผู้ถือหุ้นเมืองไทยก็พร้อมซื้อหุ้นกลับคืนจากฟอร์ติสทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ฟอร์ติสมีสัดส่วนถือหุ้นในเมืองไทยประกันชีวิตที่ 25% หรือ 92,649 หุ้น จากทั้งหมด 370,598 หุ้น และในเมืองไทยประกันภัย 10% หรือ 5.9 ล้านหุ้น จากทั้งหมด 59 ล้านหุ้น

นางจันทรา กล่าวว่า ฐานะทางการเงินของเมืองไทยประกันชีวิตยังมีความเข้มแข็งมาก มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 มีเบี้ยประกันรับรวม ณ ส.ค.ที่ 11,195 ล้านบาท อัตราเติบโต 27.8% ขณะที่มีสินทรัพย์รวมเดือนก.ค. มี 54,197 ล้านบาท เงินกองทุน 6,571 ล้านบาท คิดเป็น 728.88% ของเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย ขณะที่เมืองไทยประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 5,446 ล้านบาท เงินกองทุน 1,783 ล้านบาท คิดเป็น 678% ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แค่ 150%

“ขอย้ำปัญหาวิกฤตการการเงินจะไม่ส่งผลกระทบ และทั้ง 2 บริษัทมีความแข็งแกร่งพอจ่ายภาระผูกพันและผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ไปเวนคืนกรมธรรม์ก่อนกำหนด เพราะจะทำให้ได้รับเบี้ยประกันน้อยกว่าเบี้ยประกันที่ส่งไป หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสายด่วนประกันภัย โทร 1186”นางจันทรา กล่าว

นางจันทรากล่าวว่า สำหรับการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทประกันในประเทศไทย จะไม่เกิดปัญหาเช่นกัน เพราะ คปภ. ออกเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในด้านการลงทุน มีการกำหนดให้บริษัทต่างๆ สามารถลงทุนได้เฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ และยังมีมาตรการป้องกันอื่นๆ เช่น ให้บริษัทรายงานสถานะทางการเงินเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งหากพบภาวะผิดปกติ ก็สามารถเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

โดยในปัจจุบันนี้ ธุรกิจประกันภัยมีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่ 13 บริษัท และสาขาต่างชาติ 1 บริษัท จากทั้งหมด 24 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และถือหุ้นไม่เกินรายละ 25% ยกเว้นสาขาของบริษัทต่างประเทศ เช่น บจ.อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ (สาขาประเทศไทย) บมจ.อยุธยาอลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต บจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์กไลฟ์ประกันชีวิต และบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัย มีต่างชาติถือหุ้น 30 บริษัท สาขาต่างขาติ 5 บริษัท จากทั้งหมด 72 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยทั้งหมดถือหุ้นไม่เกิน 25% เช่นกัน ยกเว้นสาขาของบริษัทต่างประเทศ เช่น บมจ.เมืองไทยประกันภัย บจ.แอลเอ็มจี ประกันภัย บจ.ประกันภัยศรีเมือง บจ.นิวแฮมเชอร์ อินชัวรันส์ (สาขาประเทศไทย) และบจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย

นางจันทรากล่าวว่า คปภ. จะเสนอให้กระทรวงการคลังทำแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือวิกฤตการทางการเงินที่เกิดขึ้น โดยจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ทำประกัน กรณีธุรกิจประกันในประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกจนส่งผลเสียต่อผู้ถือกรมธรรม์ โดยจะเสนอให้รัฐบาลออกเงินเป็นทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท แยกเป็นคุ้มครองประกันชีวิต 9,000 ล้านบาท และคุ้มครองประกันภัย 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ถือกรมธรรม์ในกรณีเกิดปัญหา

ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องในบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย คาดว่าจะจบภายใน 15 ต.ค.นี้ เพราะขณะนี้ได้รับแจ้งจาก บริษัทสัมพันธ์ฯ ว่า จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุน และจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนได้ครบ 750 ล้านบาทในกลางเดือนนี้ โดยหากเข้ามาร่วมทุนจริงจะทำให้บริษัทสัมพันธ์กลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ ส่วนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนช่วงที่ผ่านมา ได้จ่ายไปแล้ว 1,756 ราย เป็นเงิน 12.77 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น