xs
xsm
sm
md
lg

"ปตท." เตรียมยื่นศาลปกครอง ขยายเวลาส่งมอบท่อก๊าซฯอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.เตรียมยื่นคำร้องศาลปกครองเพื่อขยายเวลาการแยกทรัพย์สินและส่งมอบทรัพย์สินให้คลังตามคำพิพากษารอบที่ 3 หลังเซ็นเอ็มโอยูกับกรมธนารักษ์รายละเอียดการแยกทรัพย์สินฯไปเมื่อ24 เม.ย.ที่ผ่านมา ตีมูลค่าทรัพย์สินและสิทธิต่างๆรวม 1.6 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ( PTT) เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์และปตท.ได้ร่วมลงนามบันทึก(เอ็มโอยู)การแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาตามคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่เนื่องจากกรมธนารักษ์จำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดทรัพย์สินที่จะรับโอน ดังนั้น ปตท.จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอขยายเวลาการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองอีกครั้งในสัปดาห์หน้านี้

อย่างไรก็ตาม การลงนามในบันทึกดังกล่าวเพื่อยืนยันและรับทราบอย่างเป็นทางการว่า กระทรวงการคลังได้รับมอบทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่แบ่งแยกตามคำพิพากษาของศาลฯ รวมมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท พร้อมเอกสารแสดงรายละเอียดทรัพย์สินที่แบ่งแยก โดยทรัพย์สินที่แบ่งแยกประกอบด้วย 1. ที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์รวมประมาณ 32 ไร่ มูลค่าทางบัญชีประมาณ 1 ล้านบาท 2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่การปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินเอกชนและจ่ายค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ มูลค่าทางบัญชีประมาณ 1,137 ล้านบาท 3. ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและท่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในที่ดินตาม ข้อ 1. และ 2.มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 15,037 ล้านบาท

สำหรับทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินเวนคืนข้างต้นนั้น กรมธนารักษ์และบริษัทจะได้ร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนต่อไป

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท.ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 แต่ต่อมา บริษัทจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลออกไปถึง 2 ครั้งจนล่าสุดศาลฯมีคำสั่งให้ขยายเวลาออกไปเป็นเวลา 60 วันสิ้นสุดเดือนเม.ย.ศกนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น