xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยื้อโอนทรัพย์ ร้องศาลยืดอีก 30 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอยืดเวลาในการแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมถึงระบบขนส่งปิโตรเลียมคืนให้รัฐออกไปอีก 1 เดือน “ประเสริฐ” ระบุ ครม.อนุมัติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผยเลือกประธานได้แล้วรอแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงความคืบหน้าในกรณีการแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมถึงสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อรวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัทว่า เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ประกอบด้วย

คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ให้ดำเนินการแยกทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

ทั้งนี้ ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน กำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยการคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นคณะกรรมการต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 14 และ 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติบุคคลเป็นกรรมการแล้ว ให้บุคคลที่ได้รับอนุมัติประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการ

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติบุคคลเป็นคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 ต่อมาบริษัทได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้า ว่า บุคคลที่ได้รับอนุมัติได้ประชุมร่วมกันและคัดเลือกผู้เป็นประธานแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ บริษัทจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลออกไปอีก มีกำหนด 30 วันนับจากวันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ และสำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 แจ้งคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษาออกไปตามที่บริษัทมีคำขอ

นอกจากนี้ บริษัทได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลและได้นำส่งรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลต่อสำนักงานศาลปกครองเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2551 แล้ว และบริษัทได้มีหนังสือลงวันที่เดียวกันถึงกรมธนารักษ์ เพื่อขอส่งมอบทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่บริษัทแบ่งแยกให้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ได้มีมติเห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท. ได้รับจากการแปลงสภาพจากการปิโตรเลียมฯ ในวันที่จดทะเบียนจัดตั้ง ปตท.ประกอบด้วย 1.ที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน จำนวนเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ 2.สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้ใช้อำนาจมหาชนและได้จ่ายเงินค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ

3.ทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่อยู่ในที่ดินเวนคืนตามข้อ 1 และที่ดินของเอกชนตามข้อ 2 ซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย

โครงการท่อจากชายแดนไทย-พม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย และให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ ปตท.โดยหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง ปตท.ผู้ถือหุ้นของ ปตท.และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและภาระผูกพันที่ ปตท.ต้องรับภาระ เช่น ภาระเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ ภาระการซ่อมบำรุงรักษา และคำนึงถึงลักษณะของท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมถึงสภาพของระบบท่อก๊าซฯ ที่แบ่งแยกเป็นช่วงๆ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงพลังงาน และ ปตท.ได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปแนวทางการคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่ได้ทำการแบ่งแยกข้างต้น โดยหลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กับกระทรวงการคลัง เป็นลักษณะของการแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) โดยรายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณค่าเช่าจะคำนวณจากรายได้ค่าผ่านท่อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี โดยภาระค่าเช่าต่อปีที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังจะต้องไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 550 ล้านบาท

**สรุปผู้รับเหมาสร้างคลัง LNG2 สัปดาห์

นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.จะคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อรองรับปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีที่จะนำเข้า 5 ล้านตัน ภายในปี 2554 วงเงินก่อสร้างประมาณ 32,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีนั้น ขณะนี้กาตาร์ได้พร้อมขายแอลเอ็นจีให้กับปตท.จำนวน 1 ล้านตัน และขายเพิ่มให้อีก 1 ล้านตัน หาก ปตท.ให้คำตอบที่ชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งราคาที่รับซื้อนั้นใกล้เคียงกับราคาของญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันราคาก๊าซแอลเอ็นจีค่อนข้างสูง ส่วนการนำเข้าแอลเอ็นจีจากอิหร่านจำนวน 3 ล้านตัน คงต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ปตท.จะพยายามเจรจาซื้อจากหลายแหล่งทั้งในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ส่วนโครงการลงทุนคลังก๊าซแอลเอ็นจีดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องหาพันธมิตรร่วมทุน โดยก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า ในการร่วมทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีดังกล่าว

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจาซื้อก๊าซแอลเอ็นจีค่อนข้างลำบาก เพราะผู้ขายทุกราย มักถามเสมอว่า ไทยมีคลังแอลเอ็นจีที่พร้อมรับซื้อหากผู้ขายลงนามจำหน่ายให้หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ ปตท.เริ่มก่อสร้างคลังก๊าซแอลเอ็นจี จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันความพร้อมในอนาคต จึงเชื่อว่า การเจรจารับซื้อจะง่ายขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีข้อตกลงเรื่องพลังงานร่วมกับอินโดนีเซีย จึงคาดว่า อินโดนีเซียพร้อมขายให้กับไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น