xs
xsm
sm
md
lg

แฉ ปตท.บิดเบือนมติ ครม.แจ้ง ตลท. หวั่นนักลงทุนรายย่อยตกเป็นเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ตั้งวงเสวนาบทเรียนคดี ปตท. แฉปตท.บิดเบือนมติ ครม.แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หวั่นนักลงทุนรายย่อยตกเป็นเหยื่อเทียบกรณียักษ์พลังงานข้ามชาติเอนรอน นักวิชาการด้านกฎหมายย้ำท่อก๊าซฯในทะเลถือเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องโอนคืนแผ่นดิน ส่วนนักวิชาการด้านพลังงานและการเงิน ชี้ต้องรื้อค่าผ่านท่อใหม่อิงสูตรกำหนดเพดานราคา ลดกำไรผูกขาดของปตท.และตีกันการส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ประชาชน

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกรณี ปตท. : แนวทางและผลกระทบ โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านพลังงาน และการเงิน เป็นวิทยากร โดยมีศ.ดร.ปราณี ทินกร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ นำเสวนาและดำเนินรายการ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวงเสวนาดังกล่าวถึงแนวทางการพิจารณาและการพิพากษาคดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปรียบเทียบกับคดีปตท.ของศาลปกครองสูงสุดว่า มีความแตกต่างกันโดยคดี กฟผ.ศาลฯ ตัดสินให้ยกเลิกพ.ร.ฎ.การแปรรูปฯ และให้กฟผ.กลับคืนสู่สถานะเดิม แต่กรณีของคดีปตท. ซึ่งระยะเวลาการแปรรูปฯ ได้ล่วงเลยมาหลายปีแล้ว การตัดสินคดีนี้ ศาลฯ ได้ยึดหลักคุ้มครองความมั่นคงฯ และคุ้มครองความมั่นใจของบุคคล และอิงมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.ศาลปกครองฯ พิพากษาว่าการโอนทรัพย์สินสาธารณสมบัติและอำนาจมหาชนไปให้ปตท.ไม่ถูกต้องแต่ให้ไปจัดการแก้ไขให้ถูกต้อง

ตามคำพิพาษาของศาลฯ ที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ ครม., นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงพลังงาน และปตท. ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. นำไปสู่การตีความว่าทรัพย์สินส่วนใดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องโอนคืน ส่วนใดที่เป็นของ ปตท. ฯลฯ ตามคำพิพากษาของศาลฯ และที่ผ่านมามีการตีความจากฝ่ายปตท.และกระทรวงพลังงาน ว่า ท่อส่งก๊าซฯ ทางทะเล ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องโอนคืนรัฐ รวมทั้งท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ ก็ไม่อยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร ให้ความเห็นในฐานะนักกฎหมายว่า ท่อส่งก๊าซฯทางทะเลถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องโอนคืนรัฐ ไม่ใช่โอนคืนเฉพาะท่อก๊าซฯ บนบกเพียงบางส่วนเท่านั้น

ด้านนางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และโรงแยกก๊าซ ซึ่งถือเป็นส่วนควบ ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องโอนคืน เพราะแม้ว่าบริษัททรานส์ไทย-เมเลเซีย เจ้าของโครงการท่อส่งก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ที่ปตท.ไปถือหุ้นอยู่ด้วยนั้นจะมีฐานะเป็นบริษัทเอกชน แต่ปตท.เข้าไปดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับทางมาเลเซีย โดยได้รับการมอบอำนาจจากรัฐบาลให้กระทำการแทนรัฐในขณะที่ปตท.มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ปตท. ยังได้ใช้อำนาจมหาชนเข้าไปรอนสิทธิประชาชนในการเวนคืนและใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อวางท่อและสร้างโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ค่อนข้างรุนแรง กระทั่งเกิดความขัดแย้งมีการฟ้องร้องตามมา

นางชื่นชม ได้ออกตัวว่าไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ถ้าหากผู้ถูกฟ้องคดีตีความคำพิพากษาอย่างกว้างจะพบว่า ระบบท่อส่งและท่อจำหน่ายต้องคืนรัฐ ทั้งบนบน ในทะเล รวมประมาณ 3,500 กม. รวมทั้งท่อและโรงแยกก๊าซฯ ที่ปตท.เข้าไปร่วมทุนกับมาเลย์ด้วย นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงการใช้อำนาจรัฐและสิทธิที่ปตท.จะแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ เช่น เจดีเอไทย-เขมร ที่จะตามมาอีกด้วย

“ยังมีประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ครม.ไม่พูดถึงเลยก็คือ การแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าว

นางชื่นชม ยังเปิดเผยข้อมูลรายได้จากค่าผ่านท่อว่าสร้างกำไรอย่างงามให้ปตท. คิดเป็นสัดส่วน 53% ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 47% และมีการประกันกำไรสูงมาก ซึ่งหลักเกณฑ์ในการคิดค่าผ่านท่อฯหลังมีคำพิพากษาแล้ว จำเป็นต้องรื้อหลักเกณฑ์ใหม่ เนื่องจากกำไรค่าผ่านท่อฯ ถูกส่งผ่านมาให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระ เพราะก๊าซฯ จากปตท. กว่า 70% เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกิจการโรงไฟฟ้า ต้นทุนหลักของค่าไฟจึงมาจากค่าก๊าซที่ปตท.ขายให้กฟผ.ในราคาแพง นอกจากนั้น อำนาจสิทธิขาดในการใช้ประโยชน์จากระบบท่อก๊าซฯ ไม่ควรตกอยู่กับปตท.เพียงเจ้าเดียวโดยเฉพาะระบบท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 และ 4

ทางด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน กล่าวว่า กิจการส่งก๊าซฯผ่านท่อโยงอยู่กับระบบสารณูปโภคพื้นฐาน ดังนั้นจึงเป็นกิจการที่รัฐควรเข้ามาดูแลไม่ให้มีกำไรเกินควร ซึ่งอำนาจในการกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติหรือค่าผ่านท่อ เป็นของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป้าหมายที่จะต้องกดดันในเรื่องนี้คือ กพช.และกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่กระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ในปตท.

ที่ผ่านมา แม้ว่า กพช. จะมีมติให้ทบทวนการคำนวณ ค่าผ่านท่อ โดยมีมติครั้งที่ 7/1550 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) เสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวนอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ ใน 2 ส่วน คือ Demand Charge ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการให้บริการคงที่ และ Commodity Charge ที่คำนวณจากค่าใช้จ่ายการให้บริการส่วนผันแปร และเห็นควรปรับอัตราการลงทุนที่แท้จริงในส่วนของทุน (IRR on Equity) เห็นควรปรับจากที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 12.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวเห็นควรปรับจากร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 7.5 ส่วนอัตราหนี้สินต่อทุนเห็นควรปรับจากที่ระดับ 75.25 เป็น 55.45 เพราะธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ เป็นกิจการผูกขาดมีความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวซึ่ง กพช. เห็นชอบในหลักเกณฑ์การคำนวณค่าผ่านท่อฯ ที่สนพ.นำเสนอ แต่ข้อสรุปว่า จะทำให้เกิดผลกระทบด้านราคาก๊าซฯ ปรับขึ้น 2.06 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีปรับเพิ่มขึ้น 1.25 ส.ต.ต่อหน่วย จึงยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

“การปรับลดอัตรา IRR อัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อปัจจุบัน อาจไม่ช่วยให้ปตท.มีกำไรผูกขาดลดลง เพราะสามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้กับผู้ซื้อก๊าซได้ตามหลัก cost-plus คือ ต้นทุนบวกกำไร วิธีการที่จะจำกัดกำไรผูกขาดของปตท.เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ต้องเปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อฯ จาก cost-plus มาเป็นแบบเพดานราคาเพื่อไม่ให้ปตท.ส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” นางสาวสฤณี กล่าว

นักวิชาการด้านการเงินรายดังกล่าว ยังเปิดเผยในวงเสวนาถึงการบิดเบือนข้อมูลของปตท.ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนรายย่อย โดยการ “ต่อเติม” มติครม. เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2550 เรื่องที่ 15 ข้อ 1- 3 โดยต่อเติมมติครม.ในสาระสำคัญโดยเฉพาะมีการระบุทั้ง “หลักการ” และ “ท่อ” ที่จะโอนตามหลักการดังกล่าว ซึ่งไม่ได้อยู่ในมติครม.โดยรวมมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลังตามคำวินิจฉัยของศาลฯ ประมาณ 15,139 ล้านบาท

นางสาวสฤณี กล่าวต่อว่า จดหมายแจ้งตลาดฯ ของปตท. ทำให้บทวิเคราะห์หุ้นปตท.ของนักวิเคราะห์หุ้นแทบทุกบริษัทในวันต่อมา ใช้ตัวเลข “มูลค่าท่อที่จะโอนสามเส้น 15,000 ล้านบาท และ “ค่าเช่าท่อ 5%” ของปตท.เป็นฐานในการคำนวณผลกระทบต่อราคาหุ้น ตัวเลขที่ปตท.ต่อเติมทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการโอนท่อและการคิดค่าเช่าจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้น “น้อยมาก” อีกทั้งการต่อเติมมติครม. ของปตท. อาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญ คำถามคือ พฤติกรรมของปตท.ถือว่าเป็นการแจ้งข้อมูลเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ เรื่องนี้คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะเข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง

“กรณีของเอนรอน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ก็มีบทวิเคราะห์ที่ผิดพลาดจากการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของบริษัท” นางสาวสฤณี กล่าวเปรียบเทียบกับกรณีของเอนรอน ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอเมริกาที่ล้มครืนลงเพราะการตกแต่งบัญชี

ทั้งนี้ นางสาวสฤณี ได้เผยแพร่ข้อมูลมติครม.ที่ถูก ปตท. บิดเบือน โดยระบุว่า มติครม.เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2550 มีดังนี้ “1. รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ 47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เรื่อง คดีการขอให้ถอดถอนพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง บมจ.ปตท.

“2. เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

“3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ บมจ.ปตท. ภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักทางการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง บมจ.ปตท. ผู้ถือหุ้นของบมจ.ปตท. และผู้ใช้ก๊าซ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันต่างๆ ที่บมจ.ปตท. ต้องรับภาระ เช่น ภาระเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ และคำนึงถึงลักษณะของท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการสาธารณูปโภค”

ส่วนจดหมายที่ ปตท. แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันรุ่งขึ้น มีการ “ต่อเติม” มติครม. โดยระบุท่อที่จะโอน ซึ่งเนื้อหาในจดหมายดังกล่าว มีดังนี้ “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้ความเห็นชอบ ดังนี้

2.1 รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 

2.2 เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมฯ ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

 2.2.1 ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ ที่ตกเป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลฯ มีหลักการคือ เป็นทรัพย์สินที่ บมจ. ปตท.ได้รับจากการแปลงสภาพจากการปิโตรเลียมฯ ในวันที่จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ. ปตท. ดังนี้ (1) ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกิดจากการที่การปิโตรเลียมฯ ได้ใช้เงินทุนจากรัฐ และใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดิน .... (2) สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ .... (3) ทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินที่เข้าข่ายที่จะต้องแบ่งแยกตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามที่ประชุมเห็นชอบเป็นการเบื้องต้นนั้น หากมีความไม่มชัดเจนในการตีความคำพิพากษาของศาล คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

 2.2.2 ภายใต้หลักการข้างต้น ทรัพย์สินที่ บมจ. ปตท. จะต้องแบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย (1) ที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน .... (2) สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้ใช้อำนาจมหาชนและได้จ่ายเงินค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ ที่ได้โอนให้กับ บมจ. ปตท. .... (3) ทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบท่อขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่อยู่ในที่ดินเวนคืนตามข้อ (1) และที่ดินของเอกชนตามข้อ (2) ข้างต้น ซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 3 โครงการ ที่ระบุในคำพิพากษาของศาล .... รวมมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลัง ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ประมาณ 15,1398 ล้านบาท”
กำลังโหลดความคิดเห็น