xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ ชี้ภาวะเงินเฟ้อในเอเชีย รุนแรงกว่าซับไพรม์ของสหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลก เตือนปัญหาเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยเสี่ยงศก.เอเซียตะวันออก พร้อมระบุ คาดความรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตการเงินของโลก พร้อมคาดการณ์การขยายตัวศก.เหลือเพียง 7.3% เนื่องจากผลกระทบการส่งออกไปสหรัฐหดตัว พร้อมเชื่อว่า ศก.ไทยจะโตได้ 5% โดยมี 2 ปัจจัยสนับสนุน คือ การบริโภคและการลงทุน เตือนความเสี่ยงจากค่างเงินบาท ที่กระทบกับการส่งออก

วันนี้(1 เม.ย.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจระดับภูมิภาคล่าสุดว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเซียตะวันออกมากกว่าปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงินโลก พร้อมระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกคาดว่าจะอยู่ที่ 7.3% ในปีนี้ ชะลอตัวลงจากระดับ 10.2% ในปีที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกที่ซบเซาเพราะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง

โดยธนาคารโลกคาดว่า หากวิกฤตสินเชื่อสหรัฐ ไม่คลี่คลายจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซียตะวันออกลดลง 1%-2% เนื่องจากการชะลอตัวของภาคส่งออก

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลก เตือนว่า ราคาอาหารและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องจากเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

รายงานของธนาคารโลก ชี้ชัดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งวิกฤตซับไพรม์ แต่ธนาคารโลกเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเอเชียตะวันออกจะช่วยรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

"แน่นอนว่า วิกฤตซับไพรม์ส่งผลกระทบที่รุนแรงในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับปัญหาราคาสินค้าจำเป็นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่มีรายได้น้อยใช้รายได้ระหว่าง 2-3 ของรายได้ทั้งหมดในการบริโภคอาหาร"

นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำให้รัฐบาลและธนาคารกลางประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อเป็นลำดับแรก

สถานการณ์ทางการเงินที่แข็งแกร่งในประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีความสามารถในการบรรเทาผลกระทบจากความต้องการภายในประเทศที่ได้รับการกระตุ้นจากนโยบายการใช้จ่ายภาคสาธารณะและภาษี

นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังชี้ด้วยว่า นโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและการปฏิรูประดับโครงสร้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการรองรับทางเศรษฐกิจ และจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้รับมือกับความท้าทายต่างๆในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้

สำหรับสำรองเงินตราต่างประเทศในเอเชียตะวันออกนั้น ธนาคารโลก ยอมรับว่า อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์และหนี้เสียของธนาคารต่างๆในภูมิภาคลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

**คาดศก.ไทยโตได้ 5% การลงทุน-การบริโภคหนุน

นายเอียน ซี พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการ ธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ว่า ธนาคารโลกได้มีการปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ใหม่มาอยู่ที่ 5 % จากเดิมคาดว่าจะขยายอยู่ที่ 4.6% โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

ขณะที่นาง กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของไทยจะขยายตัว แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อ อัตราการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามจะไม่มากกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเอกชนไทยมีความสามารถส่งออกไปยังตลาดใหม่ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงภายในประเทศจากภาวะเงินเฟ้อ และจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายของรัฐที่ไม่ชัดเจน

"สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในปีนี้ คือ การทำให้ภาคการส่งออกยังสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่จะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการค้า และอัตราการขยายตัวของการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างมาก รวมทั้งค่าเงินบาทยังแข็ค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นางกิริฎา กล่าว

อย่างไรก็ตามปริมาณการค้าและอัตราการขยายตัวของการค้าโลกชะลอตัว จากปีที่แล้วที่ขยายตัวที่ 7.5% แต่คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะอยู่ที่ 5% และคาดว่า ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศอื่น ในภูมิภคนี้ ยกเว้น อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ และคาดว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง และจะส่งผลกับการส่งออกต่อไป"นางกิริฎา กล่าว

นอกจากนี้เห็นว่าบัญชีเดินสะพัดและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในขณะที่เงินทุนไหลเข้าในรูปแบบอื่นจะผันผวน เนื่องจากปัญหาซัพไพร์มในสหรัฐ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในปี 51 จะอยู่ที่ประมาณ 5.0% ถึง 5.5 % และความไม่ แน่นอนของการส่งออกอาจเป็นปัจจัยที่จะชะลอการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งราคา อาหาร พลังงานที่ได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเนื่องจากผลผลิตการเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่เพิ่มขึ้นกว่า 25 % ในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น