xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.จี้ ING แจงข้อมูล TU-PF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.ล.ต. จี้บลจ.ไอเอ็นจี แจงข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ หลังเจอโรคเลื่อนก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด หวั่นผู้ถือหน่วยรายย่อยรับผลกระทบ ด้าน "มาริษ" แจงทุกอย่างเป็นไปตามหนังสือชี้ชวน เผยผู้รับเหมาส่งมอบงานพฤศภาคมนี้ ก่อนให้นักศึกษาเข้าอยู่เดือนมิถุนาคน ฟุ้งส่วนของพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์คนสนใจเยอะ

นายประกิด บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากความล่าช้าในการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ (TU-PF) ที่บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ทางสำนักงานก.ล.ต.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สอบถามไปยังบลจ.ไอเอ็นจีเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้บลจ.ไอเอ็นจีได้ชี้แจงถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งความล่าช้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"ตรงนี้เราคงต้องมองว่าทางบลจ.ไอเอ็นจีมีเจตนาที่จะปกปิดข้อมูลหรือเปล่า คือ ถ้ารู้แล้วแต่ยังคงเดินหน้าโครงการต่อไปจนทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ลงทุนรายย่อยในช่วงที่ผ่านมา หรือเป็นการกระทำที่ขาดเจตนา แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นกับการทำธุรกิจทั่วไปได้ โดยที่ทางบลจ.ไอเอ็นจีเองก็ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน" นายประกิดกล่าว

นายประกิด กล่าวว่า ทางสำนักงานก.ล.ต.คงจะต้องสอบถามไปทางบลจ.ไอเอ็นจีเพื่อให้ชี้แจงถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นหากเป็นโดยสุดวิสัย ต้องดูว่าทางบลจ.ไอเอ็นจีได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากระทำตามขั้นตอนหรือไม่ ได้มีการชี้แจงให้ผู้ถือหน่วยทราบหรือขอมติผู้ถือหน่วยในการที่จะกระทำการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อปกป้องประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนบ้าง โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย

ด้านนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์กล่าวว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นต่างๆ ทางบริษัทได้ชี้แจงไปกับทางตลาดหลักทรัพย์เป็นข้อมูลที่เปิดเผยกับสาธรณแล้ว โดยในส่วนของกองทุน TU-PF เองทางผู้รับเหมาก่อสร้างจะส่งมอบงานให้ในวันที่ 15 พฤศภาคม 2551 และเริ่มเข้าอยู่ได้ในเดือนมิถุนายน 2551 นี้ในส่วนของหอพักนักศึกษา และในส่วนของพื้นที่ให้เช่าในเชิงพาณิชย์เองก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาจองพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าผลตคอบแทนของกองทุน TU-PF ในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นเราคงต้องไปประเมินกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่กองทุน TU-PF ไม่มีปัญหาในการเข้าลงทุนในสิทธิการเช่าตามที่เสนอไว้ในหนังสือชี้ชวนแต่ประการใด

**TU-PFผลตอบแทนพลาดเป้า**

สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ เสนอขายหน่วยลงทุนไประหว่างวันที่ 22 ก.ย.-2 ต.ค. 2549 โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิการเช่าหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ซึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ยังไม่มีการก่อสร้าง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวกองทุนจะนำเงินที่ระดมทุนมาได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ก่อน ซึ่งกองทุนคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2550 แต่โครงการเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างขึ้นจนเลื่อนออกมาเป็นวันที่ 26 มี.ค. 2551

และล่าสุด ต้องเลื่อนกำหนดการส่งมอบงานอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากการเข้าใช้พื้นที่ของทีมงานก่อสร้างในช่วงแรกรวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงเสนอขายกองทุน TU-PF ทางบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) คาดการณ์ผลตอบแทนของกองทุนในปีแรกไว้ที่ 4.25% และในปีที่ 2 ที่ 11.14% ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ผลตอบแทนของกองทุนในปีที่ 2 นี้อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ในเบื้องต้น

ก่อนหน้านี้ บลจ.ไอเอ็นจี ในฐานะผู้จัดการกองทุน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ ได้ตกลงจะเช่าที่ดิน และอาคารในโครงการหอพักนักศึกษาและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายละเอียดปรากฏ ตามหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนและหนังสือข้อสนเทศของกองทุน ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น เนื่องจากที่ดินที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้กองทุน เช่านั้นปรากฏชื่อบุคคลธรรมดาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินซึ่งกองทุนจะลงทุน (เช่าระยะยาว 30 ปี) โดยบุคคลดังกล่าว ได้เสียชีวิตไปแล้วและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียง 1 ใน 88 ส่วนจากที่ดินทั้งแปลงจำนวน 88 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา โดยมิได้ระบุตำแหน่งของที่ดินที่ครอบครองของเจ้าของร่วม (กองทุนเช่าเพียงบางส่วนประมาณ 12 ไร่) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการเช่าทรัพย์สินของกองทุน โดยกองทุนจะยังคงสามารถทําการเช่าระยะยาว 30 ปี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไปได้โดยไม่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิการเช่า

กล่าวคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกองทุน อยู่ระหว่างการดำเนินการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อให้มีการเช่าสำหรับระยะเวลาการเช่า 30 ปีตามสัญญาเช่าตามวัตถุประสงค์และมติของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตามเดิม โดยที่กองทุนจะดำเนินการจัดทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่า เพื่อปรับแก้ไขสัญญาเช่า อีกทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกลงจะดำเนินการที่จำเป็นทุก ประการเพื่อให้กองทุนสามารถเช่าและใช้ประโยชน์จากที่ดินและอาคารได้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันรวมทั้งสิ้นไม่ ต่ำกว่า 30 ปี โดยจะไม่ยกเหตุที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าขึ้นเพื่อบอกเลิกสัญญาเช่ากับกองทุน

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการให้เช่าที่ดินและอาคารแก่ กองทุน กองทุนอาจต้องบอกเลิกสัญญาเช่า โดยกองทุนจะมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี สัดส่วนการมีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นมีอยู่เพียง 1 ใน 88 ส่วนจากที่ดิน 88 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา ซึ่งกองทุนเช่าเพียง 12 ไร่เท่านั้น อีกทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าครอบครองและหาประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยการจัดสร้าง และบริหารเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ปี 2529 และตามข้อเท็จจริงปรากฎว่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการนำที่ดินส่วนอื่นๆของมหาวิทยาลัยออกให้เช่าระยะยาวแก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย "สถาบัน AIT" บริษัท ปทต. จำกัด (มหาชน) "ปตท." ธนาคารทหารไทย และ กระทรวงอุตสาหกรรม "SME" โดยมีการต่อสัญญามาแล้วอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะดำเนินการเพื่อขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการลงทุนของกองทุน ข้อสนเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมถึงจะดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น