คลังแนะแบงก์ชาติ ลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงิน โดยปรับลดดอกเบี้ยลง 1% ตามเฟด แก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า พร้อมระบุการตัดสินใจอยู่ที่ กนง.พร้อมปรับเป้าจีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% โดยเชื่อว่าการลงทุนจะฟื้นตัว และการส่งออกไม่เสียหายมากนัก
วันนี้ (19 มี.ค.) นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ผลกระทบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศห่างกันอยู่ 1% ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าภายในประเทศมากขึ้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้ว ก็ควรที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนเพิ่มมากขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการ (กนง.) ในการตัดสินใจว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่ ซึ่งกนง.คงจะต้องดูผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และการลงทุนภายในประเทศว่าเป็นอย่างไร
“หลังจากยกเลิกมาตรการ 30% แล้ว ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาการดูแลค่าเงินบาท ถือว่ามีเสถียรภาพอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการแข็งค่าขึ้นบ้างแต่ก็ยังเป็นการแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน”
ส่วนสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่า การลงทุนจะเริ่มฟื้นตัว สศค.จึงปรับประมาณการจีดีพีปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จากเดิมคาดว่า อยู่ที่ 4.5-5.5% หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 5% ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบในเรื่องราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเกินสมมติฐานที่คาดไว้ที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยบวกทั้งเรื่องของการลงทุนเพิ่มขึ้น การเริ่มโครงการเมกะโปรเจกต์ และมีการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ก็ส่งผลให้ภาคเอกชนพร้อมที่จะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
“การส่งออกไม่น่ามีผลกระทบมากนัก เพราะเรามีการเปิดประเทศคู่ค้าใหม่ๆ มากขึ้นทดแทนการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหามากนัก ส่วนในเรื่องราคาน้ำมันคงจะต้องรอดูทั้งปี ถึงแม้ว่าตอนนี้จะสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็ตาม แต่หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3%”
ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการแถลงการปรับประมาณการจีดีพีในปี 2551 อย่างเป็นทางการ ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้