xs
xsm
sm
md
lg

KTB เล็งขึ้นค่าฟีกดเงินต่างแบงก์ อ้างแบกผลขาดทุน 10 ล.ต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์กรุงไทยเตรียมพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการใช้เอทีเอ็มต่างแบงก์ หลังแบกผลขาดทุนเดือนละ 10 ล้านบาท ระบุต้นทุนการทำธุรกรรมต่างบัญชีตกครั้งละ 3-5 บาท พร้อมติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มอีกพันเครื่อง เพื่อรองรับธุรกรรมให้ลูกค้า ขณะที่เป้าสินเชื่อรายย่อยปีนี้คาดโต 20%

นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านบัตรเอทีเอ็มที่เครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารหรือไม่ หลังจากที่มีธนาคารบางแห่งได้ปรับขึ้นเป็น 5 บาท จากเดิม 3 บาทแล้ว โดยปัจจุบันธนาคารขาดดุลจากการทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็มต่อเดือนประมาณ 10 ล้านบาท หรือปีละ 120 ล้านบาท

"เชื่อว่าในที่สุดแล้วทุกแบงก์คงต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็ม เพราะต้นทุนที่ต้องจ่ายในการธุรกรรมต่อครั้ง เช่น เมื่อใช้บริการผ่านเครื่องเอที่เอ็มต่างแบงก์เพื่อดูยอดเงินคงเหลือแบงก์เจ้าของบัญชีจะเสียครั้งละ 3 บาท และหากถอนเงินก็จะครั้งละ 5 บาท แต่ลูกค้าจะเสียเงินเมื่อใช้บริการต่างแบงก์เกิน 3 ครั้ง ซึ่งหากปรับขึ้นเป็น 5 บาทก็ยังถูกกว่าที่แบงก์จ่ายอยู่"

โดยธนาคารเริ่มที่จะขาดดุลจากการทำธุรกรรมดังกล่าวเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนเครื่องเอทีเอ็ม และทำให้ผู้ถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคารไปทำธุรกรรมที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารแห่งอื่น แต่ในปัจจุบันธนาคารมีเครื่องเอทีเอ็ม 4,500 เครื่อง และจะติดตั้งเพิ่มในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้อีก 1,000 เครื่อง ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท จึงเชื่อว่าจะทำให้ยอดขาดดุลดังกล่าวลดลงหรืออาจจะเกินดุลได้ นอกจากนี้ธนาคารยังมีการพิจารณาเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มซึ่งอยู่ที่ 150 บาท โดยอาจจะมีการปรับลดลงซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีฐานบัตรเอทีเอ็มอยู่ที่ 9.5 ล้านบัตร โดยแบ่งเป็นบัตรเดบิต 2 ล้านบัตร และที่เหลือเป็นบัตรเอทีเอ็ม รวมถึงมีจำนวนลูกค้าเงินฝากจำนวน 12 ล้านราย เป็นบัญชีเงินฝากประมาณ 14 ล้านบัญชี

นายสหัส กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยโดยรวมไว้ที่ 20% โดยแยกเป็นการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัย 20% หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เช่น สินเชื่อธนวัฎ แต่ไม่รวมลิสซึ่ง ก็จะเติบโตที่ 20% เช่นกัน โดยเป็นเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท และเชื่อว่าทั้งปีจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เนื่องจาก 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้เกินกว่าเป้าหมายทุกประเภท

ในส่วนเป้าหมายการขายสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ในปีนี้ คาดว่าจะสามารถขายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมียอดเอ็นพีเออยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สิ้นปียอดเอ็นพีเอจะเหลือ 25,000 ล้านบาท โดยจะใช้วิธีการขายเองทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น