ธปท.เผย NPL สินเชื่อส่วนบุคคลปี 50 เพิ่มขึ้นถึง 31.74% ระบุต้นเหตุสำคัญ ศก.ชะลอตัว-ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยเป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทยสูงสุดถึง 3,397 ล้านบาท ทะยานขึ้นพรวดเดียวเกือบ 80% ขณะที่นอนแบงก์เพิ่มแค่ 18%
วันนี้(12 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปี 2550 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบมีสูงถึง 9,230 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 2,224 ล้านบาทหรือ 31.74% ทั้งนี้ เป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทยสูงสุดถึง 3,397 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน 79.73% สาขาต่างธนาคารต่างประเทศ1,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(non-bank) 4,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8%
ทั้งนี้ NPLs ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจซึ่งขยายตัวในอัตราชะลอลงและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารรถประจำทาง ราคาน้ำมันและสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค
ส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง มีจำนวนทั้งสิ้น 204,514 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน 19,977 ล้านบาทหรือ 10.83% โดยสินเชื่อคงค้างของธนาคารไทยขยายตัวสูงสุดที่ 87,879 ล้านบาทหรือ 19.91% non-bank 93,612 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 0.55% ขณะที่สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 23,023 ล้านบาทลดลง 1.59% ส่วนจำนวนบัญชีมีทั้งสิ้น 10,780,973 ล้านบาท
สำหรับ NPL ของบัตรเครดิตทั้งระบบในปีเดียวกันมีจำนวนทั้งสิ้น 5,850 ล้านบาท เร่งขึ้นจากปีก่อน 31.49% แยกเป็นธนาคารไทย 2,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.71% สาขาต่างธนาคารต่างประเทศ 1,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.70% และ non-bank 2,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32%
ขณะที่ ยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบอยู่ที่ 179,275 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน 4.83% เป็นการขยายตัวของการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 79,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.62% แยกเป็นใช้จ่ายในประเทศ 58,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.14% ใช้จ่ายต่างประเทศ 2,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.04% และการเบิกเงินสดล่วงหน้า18,829 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.87% จากปริมาณบัตรทั้งสิ้น 10,003,369 บัญชี