xs
xsm
sm
md
lg

KTBจ่อขึ้นค่าฟีถอนเงินต่างแบงก์ ลุยเพิ่มATMขยายช่องทางบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กรุงไทย"สุดทนจ่อขึ้นค่าธรรมเนียมกดเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารจาก 3 บาท เป็น 5 บาท มีผลในเดือนกรกฎาฯนี้ พร้อมติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มอีก 2 พันเครื่องภายในปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ส่วนธนาคารทิสโก้ยันยังไม่มีแผนปรับขึ้น เหตุฐานลูกค้ายังมีไม่มาก ขณะที่แบงก์ใหญ่ยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุด"กสิกรไทย"ขึ้นดอกกู้-ฝากมีผล 4 มิถุนาฯนี้

นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการกดเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคาร ในเดือนกรกฎาคม 2551 ทั้งนี้ หากลูกค้ากดเงินต่างธนาคารตั้งแต่ครั้งที่ 5 จะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 3 บาท เป็น 5 บาทต่อครั้ง เนื่องจากธนาคารมีภาระต้นทุนสูงขึ้นในการจ่ายค่าธรรมเนียมการทำรายการระหว่างธนาคาร ซึ่งหลายธนาคารได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากลูกค้ากดเงินที่เครื่องเอทีเอ็มเจ้าของบัตรเป็นหลัก ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม

“การที่ธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากลูกค้านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีเครื่องเอทีเอ็มรองรับให้เพียงพอ ซึ่งในปี 2551 ธนาคารได้ตั้งเป้าติดตั้งเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2,000 เครื่อง ปัจจุบันธนาคารมีเครื่องเอทีเอ็มกว่า 5,200 เครื่องทั่วประเทศ สามารถรองรับความต้องการใช้บริการของลูกค้าผู้ถือบัตรเอทีเอ็มและบัตรวีซ่าเดบิตของธนาคารกว่า 9 ล้านบัตรได้อย่างทั่วถึง”

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เร่งขยายช่องทางการให้บริการ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกของลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นสำคัญ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารได้ติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มในเขตชุมชน ตลาด โรงพยาบาล และอำเภอที่ห่างไกลในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ไปแล้ว 14 จุด และยังมีแผนติดตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มอีก 17 จุด

ด้านนายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายสินเชื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีนโยบายปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการกดเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารมากกว่าว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ในส่วนของธนาคารทิสโก้เองยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมในกรณีที่ลูกค้ากดเงินผ่านเอทีเอ็มต่างธนาคาร เนื่องจากธนาคารเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มภาระให้กับลูกค้า ในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจมีการชะลอตัวประกอบกับราคาน้ำมันก็ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจะยังคงอัตราค่าธรรมเนียมไว้ที่ระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจริง สิ่งที่ธนาคารต้องทำต่อไปคือต้องมีเครื่องเอทีเอ็มรองรับให้เพียงพอกับความต้องการและจำนวนลูกค้าด้วย ซึ่งผลเสียที่จะตามมาไม่ใช่เฉพาะลูกค้าเท่านั้นที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่ตัวธนาคารเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายทางต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการติดตั้งตู้เอทีเอ็มแต่ละครั้งนั้นจะต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยที่ต้นทุนการนำเข้าเครื่องเอทีเอ็มเฉลี่ยจะอยู่ที่ 400,000-500,000 บาทต่อเครื่อง ในขณะเดียวกันจำนวนตู้เอทีเอ็มทั้งระบบธนาคารในปัจจุบันมีอยู่กว่า 30,000 เครื่อง ซึ่งคิดว่าก็เพียงพอกับความต้องการของประชาชนอยู่แล้ว

“การที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการกดเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารเมื่อลูกค้าใช้บริการกดเงินเกินจำนวนครั้งที่ระบุไว้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้อยู่แล้วแต่อยากให้มองถึงความจำเป็นก่อน เพราะในที่สุดธนาคารเองก็จะต้องมีการติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งผลพลอยได้คือเพื่อเป็นการแย่งชิงฐานลูกค้านั้น ในส่วนของธนาคารทิสโก้คงไม่ทำอยู่แล้ว เพราะฐานลูกค้าในปัจจุบันมีไม่มากเท่ากับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อีกทั้งเรามองว่าควรจะมีการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารมกกว่าจะมาหวังรายได้ค่าธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว” นายศักดิ์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันธนาคารมีจำนวนลูกค้าผู้ถือบัตรเอทีเอ็มอยู่ประมาณ 45,000 รายหรือคิดเป็นจำนวนบัตรมีอยู่กว่า 30,000 บัตร ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีลูกค้ารายใหญ่รวมอยู่ด้วยโดยลูกค้าเหล่านี้โดยส่วนใหญจะใช้ระบบบัญชีเช็คในการเบิกเงิน นอกจากนี้ช่องทางการให้บริการด้านสาขาในปัจจุบันถือว่าเพียงพอและสะดวกสบายต่อลูกค้าเช่นกัน โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 10 สาขาทั่วประเทศ จากเดิมมีอยู่ 28 สาขา

กสิกรฯขยับดบ.กู้-ฝากตาม
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ และมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ทำให้มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดการเงิน และสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ ธนาคารจึงได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทอีก 0.35-1.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 2.35-2.65% เงินฝากประจำ 6 เดือน อยู่ที่ 2.50-2.75% เงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ 2.75-3.00% และเงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือน อยู่เท่ากันที่ 3.50-3.75%

นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้สอดคล้องกับธนาคารอื่น ๆ ที่ได้ทำการปรับขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์อยู่ที่ 7.25% เอ็มโออาร์ 7.50% และเอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ 7.75%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จะมีระยะสั้น-ยาวขนาดไหน น่าจะขึ้นอยู่การปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวแปรสำคัญ โดยในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและความเชื่อมั่นภาคเอกชนในระยะต่อไปยังมีความเปราะบาง จะมีความเป็นไปได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในรอบนี้อาจจะกินเวลาไม่นานนัก ก็อาจจะถึงจุดสิ้นสุด รวมทั้งอาจจะมีขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาเอ็นพีแอลอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น และสินเชื่ออาจชะลอตัวลง

แต่ในกรณีที่ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งปัญหาการเมืองและปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการเร่งการใช้จ่าย และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล ก็คงจะสนับสนุนให้เสรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องลดลง หนุนให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดำเนินต่อเนื่องได้ยาวนานขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น