xs
xsm
sm
md
lg

นับหนึ่งรื้อโครงสร้าง ก.ล.ต.“ขุนคลัง” ได้สิทธิตั้งประธาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ร.บ.ตลาดทุนฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 มี.ค.51 นับหนึ่งการปรับโครงสร้างบอร์ด ก.ล.ต.บอร์ดเก่าเตรียมจับสลากออกให้เหลือ 3 คน ภายใน 30 วัน ก่อนตั้งบอร์ดใหม่ ที่มาจากกรรมการ ก.ล.ต.โดยตำแหน่ง 3 คน “ปลัด ก.คลัง-ปลัด ก.พาณิชย์-ผู้ว่าการ ธปท.” และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4-6 คน ก่อนเสนอ ครม.แต่งตั้ง พร้อมเปิดช่องขุนคลังส่งตัวแทนเข้ามาเป็นประธานบอร์ดใหญ่ได้โดยตรง ด้านบอร์ดชุดเล็ก “กำกับตลาดทุน” เลขาฯก.ล.ต.นั่งเป็นประธานทันที

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งผลการใช้ข้อบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.โดยประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ.2550 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2551, 2.พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2551, 3.กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551, 4.พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2551

5.พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2551 ทั้งนี้ มีบางมาตราของกฎหมายบางฉบับข้างต้นใช้บังคับไม่พร้อมกัน โดยสาระสำคัญในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย 1.คุ้มครองให้ประชาชนผู้ลงทุนมีช่องทางเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของกิจการที่ลงทุน และสามารถใช้สิทธิคุ้มครองตนเองได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมให้ผู้ลงทุน ในตลาดทุนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และตราสารในรูปแบบใหม่ ๆที่นับวันจะมีความหลากหลายและพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นการช่วยรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนโดยรวม

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองผู้ร่วมตลาด (market participants) ตลอดจน จัดให้มีกลไกและระบบที่รองรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดทุนที่มีความมั่นคง ลดความเสี่ยงทางกฎหมาย และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาธุรกรรมในตลาดทุน

2.ปรับปรุงให้องค์กรกำกับดูแลตลาดทุนมีโครงสร้างที่รองรับการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ทันการสามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ของตลาดการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการดำเนินการที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรกำกับดูแลจะต้องอยู่ภายใต้กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ โครงสร้างที่มีการเข้ามาเพิ่ม เช่น คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทำหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในระดับที่เป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติไม่ใช่ระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ให้สามารถมุ่งเน้นในด้านนโยบายในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนในภาพรวมเป็นสำคัญ คณะกรรมการชุดนี้จะมีเลขาธิการเป็นประธาน รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ซึ่งผ่านการคัดเลือกในระดับเดียวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. และโดยที่คณะกรรมการชุดนี้มีความใกล้ชิดกับการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ จึงกำหนดกลไกการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยให้กรรมการจัดทำรายงานการถือหลักทรัพย์ยื่นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อเข้ารับตำแหน่งและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์

3.เพิ่มกลไกสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการแสวงหาความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยห้ามบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน กลั่นแกล้ง หรือกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อพนักงานลูกจ้าง หรือบุคคลที่รับจ้างทำงานให้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา หรือผู้สอบบัญชี ที่ให้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ต่อทางการโดยสุจริต บริษัทที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะมีโทษอาญา นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่เสนอยังคุ้มครองผู้ให้เบาะแสไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอันเนื่องมาจากการให้เบาะแสดังกล่าว เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนในกระบวนการปรับโครงสร้างคณะกรรมการก.ล.ต. ซึ่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พรบ. มีผลใช้บังคับ ขณะที่กรรมการชุดปัจจุบันให้จับฉลากออกให้เหลือ 3 คน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ กรรมการชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการ ก.ล.ต.โดยตำแหน่ง 3 คน (ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้ว่าการ ธปท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4-6 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องเสนอชื่อโดยประธานกรรมการ ก.ล.ต., กรรมการ ก.ล.ต.โดยตำแหน่ง ให้คณะกรรมการคัดเลือก พิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ ก.ล.ต.แล้วคณะกรรมการคัดเลือกเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกต่อรมว.คลังภายใน 30 วัน

ในส่วนของตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.ชุดใหม่เสนอชื่อต่อ รมว.คลัง พร้อมกันนั้น รมว.คลัง เสนอชื่อต่อ ครม.เพื่อแต่งตั้งด้านคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เลขาธิการ ก.ล.ต.จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ขณะที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน จะประกอบด้วย รองเลขาธิการ ก.ล.ต.1 คน ผู้อำนวยการ สศค.หรือรองผู้อำนวยการ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง รมว.คลังแต่งตั้ง ก่อนให้ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต.และเลขาธิการ ก.ล.ต.เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณา แล้วคณะกรรมการคัดเลือกเสนอชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ รมว.คลัง แต่งตั้ง

ด้าน คณะกรรมการคัดเลือกซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาเสนอชื่อคณะกรรมการชุดใหม่มี 7 คน ซึ่งมาจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต.โดยจะต้องเสนอให้รมว.คลังพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และเมื่อ รมว.คลัง เห็นชอบแล้ว ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กรรมการ ก.ล.ต.จะได้ใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป

อนึ่งรายชื่อคณะกรรมการก.ล.ต.ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ, นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ, นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ, นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ, นายนนทพล นิ่มสมบุญ กรรมการ, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กรรมการ, นายสมพล เกียรติไพบูลย์ กรรมการ, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการ, นายกำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการ, นายวสันต์ เทียนหอม กรรมการ และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กรรมการและเลขานุการ
กำลังโหลดความคิดเห็น