รมว.คลังรับลูก เร่งตั้งคกก.พัฒนาตลาดทุน เพิ่มฐานการลงทุนเทียบชั้นตปท. แนะให้ศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันจากตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ส่วนการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ แย้มช่วงบ่ายเตรียมหารือเจบิก เคาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง
วันนี้(27 ก.พ.) น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด" โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ถือเป็นเสาหลักของประเทศ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศ มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เนื่องจากเป็นแหล่งออมเงินของประชาชนและเป็นช่องทางลงทุนของนักลงทุน
แต่ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันเมื่อเทียบกับศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยแล้วถือว่าน้อยมาก โดยคิดเป็นมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์/วัน ขณะที่มาเลเซีย 700 ล้านดอลลาร์/วัน และสิงคโปร์ 1,500 ล้านดอลลาร์/วัน
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาตลาดทุนเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ ตลอดจนเรื่องความโปร่งใส เพราะที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเพื่อนบ้านได้พัฒนาเร็วกว่าของไทยมาก เช่น มาเลเซีย ที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจนทั้งด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน , สร้างประสิทธิภาพด้วยการลดต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ และการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการปั่นหุ้น
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ตามข้อเสนอของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยจะมี รมว.คลังเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) , สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
น.พ.สุรพงษ์ ระบุอีกว่า แนวทางการพัฒนาตลาดทุนต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน คือ องค์ความรู้ , การเชื่อมต่อกับฝ่ายนโยบายเพื่อให้สามารถประสานองค์ความรู้ไปสู่ระดับนโยบายเพื่อการตัดสินใจ และการเชื่อมต่อกับสาธารณะ ในการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน
**อุบตั้งวายุภักษ์ 2 ยังไม่มีข้อสรุป
สำหรับการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 น.พ.สุรพงษ์ คาดว่า ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนจึงจะสามารถสรุปเรื่องกองทุนวายุภักษ์ 2 ได้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังต้องมีการศึกษารายละเอียดในแต่ละขั้นตอนอีกมาก ส่วนการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ แย้มช่วงบ่ายหารือเจบิก เคาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในหลักการแล้วรัฐบาลต้องการมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สำหรับลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หลังจากรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 5 ชุดเพื่อดูแลโครงการเมกะโปรเจกต์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินกู้นอกเหนือจากการใช้เงินงบประมาณและการออกพันธบัตร
**เจบิก ถกรถไฟฟ้าสายสีม่วง บ่ายนี้
แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ระบุว่า ช่วงบ่ายวันนี้ตัวแทนธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก) มีกำหนดเข้าพบ นพ.สุรพงษ์ เพื่อแสดงความยินดีหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง
ทั้งนี้ คาดว่าในการพบปะกันครั้งนี้จะมีการหารือกันในเรื่องของการพิจารณาเงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายสายสีม่วง ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญากันอย่างเป็นทางการ
"ตอนนี้เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องศึกษา คาดว่าเร็วที่สุดคงเป็น 1-2 เดือน คงไม่นานนัก"
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวยอมรับว่า วันนี้ ผู้แทนจาก เจบิก จะเข้าพบ นพ.สุรพงษ์ ในช่วงบ่ายจริง เพื่อหารือถึงโครงการเงินกู้เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าของไทย ก่อนที่จะเซ็นสัญญาเงินกู้รอบแรก เพื่อใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงินกู้ประมาณ 30,000 ล้านบาท
ขณะนี้ เจบิกพร้อมที่จะเซ็นสัญญาเงินกู้ แต่รอหารือในรายละเอียดเพื่อให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการขอยกเว้นคาธรรมเนียมผูกพัน ซึ่งเจบิคระบุเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องจัดเก็บคาธรรมเนียม 0.1% ของวงเงินกู้ทั้งหมดที่ยังไม่ได้ใช้ เนื่องจากจะเป็นตัวเร่งให้โครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่มีความคืบหน้าหรือโครงการเสร็จล่าช้า ภาระค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็จะกลายเป็นต้นทุนของโครงการ แต่ สบน.เห็นว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นภาระต้นทุนทีสูงมากและควรขอยกเว้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าจะดำเนินการเสร็จตามระยะเวลาอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล
**สั่ง ขรก.คลังปิดปากภาษีประชานิยม
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ ได้เรียกผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร เพื่อแจ้งให้รับทราบว่า รมว.คลัง ต้องการให้หยุดสัมภาษณ์ให้ความเห็นเรื่องมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุป กลัวถูกโจมตีจากนักวิชาการและฝ่ายค้าน และกลัวว่ามาตรการที่ถูกเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ มาตรการภาษีที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีมากกว่า 11 มาตรการ เช่น ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาให้เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจาก 1 แสนบาท เป็น 1.5 แสนบาท ให้หักลดหย่อนเงินที่ลงทุนกองทุนอาร์เอ็มเอฟจาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท เพิ่มหักลดหย่อนเบี้ยประกันจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท รวมทั้งการต่ออายุภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกไปอีก 2 ปี ให้เสียภาษี 25 % เป็นเวลา 3 รอบบัญชี ลดภาษีให้บริษัทเอสเอ็มอี และลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3 % ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และคงภาษีมูลค่าเพิ่ม7 % ออกไปอีก 2 ปี
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นการเสนอมาจากฝ่ายนโยบายที่ต้องการให้ดำเนินการ ไม่ใช่จากฝ่าย สศค.เสนอขึ้นไปให้ดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา สศค. ได้เสนอการปรับโครงการสร้างภาษีทั้งระบบ โดยการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้รายได้เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
"มาตรการภาษีต่างๆ เป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรรวบรวมเสนอให้รมว.คลัง รับทราบก่อนหน้านี้ ว่าที่ผ่านมาในแต่ละภาคอุตสาหกรรมเคยขอให้ลดหย่อนภาษีตัวใดบ้าง ซึ่งจะมีผลดีกับเศรษฐกิจและผลเสียกับรายได้ของรัฐ รวมถึงความจำเป็นต้องดำเนินตามคำร้องขอหรือไม่ เพื่อให้ รมว.คลัง ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเดินสายไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่างๆ"