xs
xsm
sm
md
lg

แฉเลี้ยบลดภาษีเจ๊ง 1.6 แสนล. ตลท.นัดถกปรับกลยุทธ์วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสรรพากร แฉมาตรการภาษีที่ขุนคลัง "เลี้ยบ" นำมาใช้ฉุดรายได้รัฐหาย 1.6 แสนล้าน ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ รับยืดมาตรการลดภาษีบริษัทจดทะเบียนจะเอื้อให้เอกชนเข้ามาระดมทุนมากขึ้น และช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน พร้อมยืนยันไม่ส่งผลกระทบทำให้เอกชนชะลอแผนเข้าตลาดหุ้นออกไปอีก ด้าน "ปกรณ์" นัดทีมงานประชุมวางกรอบขยายฐานนักลงทุนวันนี้

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ประเมินผลกระทบจากการปรับลดภาษีในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะมาตรการที่มีความชัดเจนว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ค่อนข้างเห็นด้วย ประกอบด้วย มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของรายได้ 1.5 แสนบาทแรก เพื่อช่วยผู้มีเงินได้น้อยให้ไม่ต้องมีภาระภาษี คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว 8 ล้านราย
มาตรการต่ออายุการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 7% ไปอีก 2 ปี นับจาก 30 ก.ย.51 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ถึงแม้จะไม่มีผลกระทบให้รัฐมีรายได้ลดลงแต่ทำให้สูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับในอนาคตหากปรับเป็น 10% ตกประมาณปีละ 1.46 แสนล้านบาท

การขยายเวลามาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทจดทะเบียนจากเดิมที่หมดอายุเมื่อสิ้นธ.ค.2550 โดยขยายให้เป็นหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.52 หรือขยายไปอีก 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับได้แก่ บริษัทที่ยื่นไฟลิ่งก่อนระยะเวลาดังกล่าวจะได้สิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 25%เป็นเวลา 3 รอบบัญชี เพื่อจูงใจให้บริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ไม่สามารถประเมินได้

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบจ.เดิม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 25% สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินให้เสียในอัตรา 30% คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 4,400 ล้านบาท

มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (อาร์เอ็มเอฟ) จาก 3 แสนบาทต่อปี เป็น 5 แสนบาทต่อปี รายได้กรมฯจะหายไปประมาณ 600 ล้านบาท มาตรการในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนโดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนในส่วนของรายได้ 1 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปให้เสียภาษีตามปกติ รายได้หายไปประมาณ 500 ล้านบาท

"ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวมีผลกระทบกับรายได้ของกรมสรรพากรโดยตรง โดยคิดเป็นประมาณ 162,500 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องยอมรับผลกระทบกับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีของกรมด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม 1.2 ล้านล้านบาทนั้นยังไม่ได้คำนึงถึงมาตรการเหล่านี้เอาไว้ แต่" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวส่วนมากจะเป็นการแก้ไขกฎหมายในกฎกระทรวงและแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 นี้สามารถแก้ไขได้โดยง่ายสามารถประกาศใช้ได้โดยเร็ว

ขณะที่การแก้ไขกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือประมวลรัษฎากรต้องผ่านขั้นตอนการพิจาณาของสภา และใช้เวลาในการแก้ไขนานไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันตามความต้องการของรัฐบาลเพื่อให้นโยบายประชานิยมที่หาเสียงก่อนเลือกตั้งดำเนินการได้ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน

"กฎหมายส่วนใหญ่นั้นแก้ไขได้ง่ายและเร็ว โดยหากครม.ให้ความเห็นชอบแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็สามารถใช้อำนาจลงนามในประกาศกฎกระทรวงได้ทันที"

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานั้น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทนั้น ตามหลักการแล้วจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในประมวลรัษฎากรซึ่งต้องเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาให้ความเห็นชอบจึงจะสามารถทำได้ แต่สำหรับกรณีนี้ครม.คงให้ความเห็นชอบและมอบหมายรมว.คลังดำเนินการได้ทันทีเนื่องจากเป็นวงเงินที่ไม่สูงมากนักไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้เท่าใดนัก จึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงแทนได้ รวมทั้งมาตรการที่เพิ่มสินทธิในการลดหย่อนทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขในกฎกระทรวงทั้งสิ้น

ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 25% นั้นเป็นกฎหมายที่ออกโดยพระราชกฤษฎีกาจึงต้องแก้ไขตามศักดิ์ของกฎหมายซึ่งใช้เวลาไม่นานเช่นกัน

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (26 ก.พ.) คณะอนุกรรมการการขยายฐานนักลงทุน จะจัดการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและกลยุทธ์การดำเนินงานในการขยายฐานนักลงทุนให้มากขึ้น หลังจากที่กระทรวงการคลังมีนโยบายจะพิจารณาขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มาตรการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว คงจะไม่มีผลกระทบทำให้บริษัทที่เตรียมจะเข้าจดทะเบียนมีการชะลอออกไป เพราะการเข้ามาจดทะเบียนได้เร็วเท่าไรจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเร็วเท่านั้น และการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นถือว่าเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีด้วย

สำหรับมาตรการดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดีในการจูงใจให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น เพราะในขณะนี้จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวนไม่มากนักแค่ 525 บริษัทเท่านั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการบริษัทที่ดีเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุน ขณะที่บริษัทจดทะเบียนจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาระดมทุนที่มีต้นทุนที่ต่ำ

"คณะอนุกรรมการในการเพิ่มดีมานด์จะมีการประชุมในวันนี้ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและวางกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ขณะที่กระทรวงการคลังกำลังจะมีการพิจาณาในการลดภาษีบจ. ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะเพิ่มซัพพลายให้มากขึ้น เพราะการเพิ่มดีมานด์และซัพพลายนั้นเป็นงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องดำเนินงานไปพร้อมๆ กัน" นายปกรณ์ กล่าว

ส่วนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสียภาษีนิติบุคคลเหลือ 25% จากเดิม 30% และบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จะเสียภาษี 20% จากเดิม 25% ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วแต่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาท จะได้รับการลดภาษีเหลือเพียง 25% จากเดิม 30% ซึ่งถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนมีภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างเพื่อให้การดำเนินงานให้เป็นไปตามบรรษัทภิบาลที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากที่มีการให้สิทธิประโยชน์จากภาษีกับบริษัทที่ยื่นความจำนงที่จะเข้าจดทะเบียนภายในปีนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้มีบริษัทยื่นความจำนงเข้ามาถึง 107 บริษัท ซึ่งถือว่าเรื่องการลดภาษีนั้นมีบทบาทต่อการที่จะเข้ามาจดทะเบียน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดภาษีให้กับบริษัทใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วแต่ให้ในส่วนของกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการให้ประโยชน์กับบริษัทที่มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส และเป็นการสนับสนุนบริษัทให้มีการเติบโตมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมในเรื่องการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น