หลายคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ว่าสาวสวยดาวดวงใหม่อายุ 30 ต้นๆ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ คนนี้ "ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก" ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิต และก้าวย่างของเธอสู่ความเป็นนักการเมือง มุมมองของเธออาจทำให้หลายคนมองการเมืองไม่น่าเบื่อ ในทางกลับกัน ชีวิตของนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างเธอถือเป็นตัวอย่างของวิถีทางที่คนรุ่นใหม่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้...
ก้าวย่างบนเส้นทางการเมือง
การเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของ ดร.รัชดา เป็นเหมือนไม้ขีดก้านเล็กๆ ที่เข้ามา จุดไฟในชีวิตของเธอ เธอเล่าถึงชีวิตที่ต้องเข้ามาสัมผัสกับเรื่องราวทางการเมืองว่า ทางครอบครัวติดตามข่าวสารการเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ผู้จัดการ เอเอสทีวี บวกกับต้องสอนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐในระดับปริญญาโท และต้องสอนให้เด็กปริญญาตรีให้เข้าใจถึงความสำคัญของการเมือง จึงอินไปกับการเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่อยมา
"โดยส่วนตัวมองว่า การเมืองมันเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน นักการเมืองก็สำคัญ ไม่เคยมองว่านักการเมืองเป็นอาชีพที่ไม่ดี เพียงแต่ว่าคนที่ดีเข้าไปเป็นนักการเมืองยังน้อย แล้วเราจะรอว่าวันหนึ่งจะมีคนที่ดีถูกใจเรา แล้วไปหย่อนบัตรเลือกเขา ไม่รู้เมื่อไหร่จะมา"
พอการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ความคิดของเธอจึงตกผลึกว่าตัวเองมีความพร้อมในแง่ยังไม่มีครอบครัวให้คอยดูแล และด้วยประสบการณ์บวกกับความตั้งใจ จึงน่าจะอาสาเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองได้ จากนั้นจึงปรึกษากับที่บ้านว่าถ้าจะเข้ามาเป็นนักการเมือง ที่บ้านจะคิดเห็นเป็นอย่างไร เพราะว่าต้องให้ทางบ้านสนับสนุน ทั้งกำลังใจและอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งทางบ้านก็ให้การสนับสนุนเต็มที่
"ตอนแรกคุยกับคนครอบครัว คุยกับคนรู้จักว่าจะเข้ามาพรรคอย่างไรดี ถ้าเดินเข้ามาเขียนใบสมัครเราก็กลัวว่าใบสมัครเราอาจจะตก ตอนนั้นสถานการณ์คือเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วเราคาดการณ์ว่าปลายปีจะมีเลือกตั้ง"
โชคดีที่มีเพื่อนของ ผศ.ดร.รัชดา คนหนึ่ง มีคุณพ่อที่เคยเป็นลูกน้องเก่า นายชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ขันอาสาเป็นธุระติดต่อให้เข้ามาพบกับนายชวน แล้วโอกาสก็มาถึง เมื่อประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้โอกาสพูดคุยสัมภาษณ์เรื่องทั่วๆ ไปประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นจึงพาไปแนะนำให้รู้จักกับผู้ใหญ่ในพรรค ได้ไปพบกับ ผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค และเขียนใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคในวันเดียวกัน
"เหตุที่เลือกมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งเลย เพราะว่าพรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ อุดมการณ์มันต้องมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม ต้องไม่มีใครเป็นเจ้าของ สองเราจะไปเป็นสมาชิกพรรคเราต้องมีศรัทธาในตัวหัวหน้าพรรค เราชื่นชมศรัทธาท่านอดีตหัวหน้าพรรค แล้วก็หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน"
ผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรค
สถานการณ์ทางการเมืองตอนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ คาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2549 ทางพรรคจึงเลือก ผศ.ดร.รัชดา ลงสมัครในพื้นที่เขตบางพลัด แข่งกับ คุณภิมุข สิมะโรจน์ จากพรรคไทยรักไทย แน่นอนว่าชื่อชั้นของ คุณภิมุข เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และยังเป็นอดีต ส.ส.เก่าอีกด้วย
ผศ.ดร.รัชดา เล่าว่า หลังจากทางพรรควางตัวลงสมัครเขตบางพลัด ก็ต้องลงไป ทำพื้นที่ แนะนำตัว ไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน เพื่อให้เป็นที่รู้จัก แต่หลังจากนั้นเกมก็เปลี่ยนเมื่อมีการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549
พอถึงการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ กติกาเปลี่ยนใหม่ เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น ทางพรรคส่งลงสมัครเขต 12 พื้นที่เดียวกับ คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ คุณชนินทร์ รุ่งแสง ซึ่งทั้งสองคนเป็น คนเก่าคนแก่ในพื้นที่ มีพี่น้องประชาชนรักใคร่มาก แต่ ผศ.ดร.รัชดา เป็นผู้สมัครหน้า ใหม่เพียงคนเดียวในทีม
"เวลาไปหาเสียง บางคนก็จำไม่ได้ บางคนบอกว่าดูเด็กกว่าในรูป ก็ถามอายุแค่นี้เป็น ส.ส.เหรอ บางคนบางทีก็รู้จัก ผศ.ดร. ก็มีหลายกลุ่ม บางคนรู้จักความหมายของ ผศ.ดร.เขาก็ชมเราว่าอายุหน้าตายังเด็ก อายุแค่นี้เก่งจัง แต่บางคนเขาก็เห็นหน้าแล้วเขาก็บอกว่า ทำอะไรได้มั่งก็มี"
ผศ.ดร.รัชดา บอกว่าตอนหาเสียงรู้สึกสนุกเหมือนกับว่ารอเวลานี้มานานเป็นปี ในแต่ละวันต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ แต่งหน้าทำผม บางทีก็ไปยืนสวัสดีตรงหัวมุมสี่แยก สูดควัน ยืนสามชั่วโมง กลางคืนก็เดินตลอดเวลา แน่นอนว่าต้องเหนื่อยกายเป็นเรื่อง ธรรมดา แต่ว่าใจมันอยู่เหนือความเหนื่อยของทางร่างกาย ในที่สุดการลงสมัคร ส.ส. สมัยแรก ก็สมหวังได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของทีม
"อยากเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนจริงๆ เข้าใจปัญหาของพี่น้องจริงๆ เสนอปัญหาของเขาต่อสภา ต่อรัฐบาลอย่างมีเหตุผล บางคนเสนอความคิดอย่างไม่มีเหตุผล ขอแค่ได้พูด แต่ว่าเราอยากจะใช้พื้นฐานของความเป็นนักวิชาการ เราอยากจะเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างแท้จริง ก่อนที่จะนำเสนอปัญหา"
สำหรับสิ่งมุ่งหวังในการทำหน้าที่ในสภา ผศ.ดร.รัชดา บอกว่า อยากทำให้ ภาพลักษณ์ของสภา ของนักการเมืองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งนี้ประเทศไทยมี ส.ส.ใหม่เกือบสองร้อยคน แค่ประชาธิปัตย์ เกือบหกสิบคน น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประชาชนมองการเมืองว่าเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเขาให้เขามากระตือรือร้นสนใจการเมือง
"เมื่อคนไม่สนใจการเมืองมันจึงทำให้มีค่าใช้จ่าย ต้องไปผ่านหัวคะแนนอะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราทำให้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ต้องติดตามและใส่ใจว่า ส.ส.คนนี้เป็นอย่างไร พรรคนี้เป็นอย่างไร แต่เพราะว่าคนเซ็ง คนเพิกเฉย มันต้องมีค่าใช้จ่ายในทางการเมืองเกิดขึ้น สุดท้ายมันก็นำมาสู่การคอร์รัปชัน"
ในท้ายที่สุดกับชีวิตบนถนนการเมืองในอนาคต ผศ.ดร.รัชดา บอกว่า ยังไม่ได้คิดไปไกลกับอาชีพนี้ ขอทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด เนื่องจาก อาชีพนักการเมือง บอกไม่ได้ว่าอยู่กี่ปีแล้วต้องมีตำแหน่ง บางครั้งถ้าทำไม่ดี หรือใจไม่สู้สมัยหน้าก็อาจจะไม่ได้อยู่ในอาชีพนี้ต่อไปก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องตระหนักในบทบาทหน้าที่ของเรา ทำให้มันดีก็มีความสุขแล้ว มันคาดหวังไม่ได้
จากวัยเยาว์สู่เส้นทางวิชาการ
เส้นทางชีวิตของนักการเมืองสาวสวยรุ่นใหม่คนนี้ เติบโตในครอบครัวนักธุรกิจ เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายน้ำมันบริษัทเชลล์ มีพี่ชายร่วมสายเลือดอีกหนึ่งคน ที่คอยสานต่อกิจการของทางบ้าน ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเล็ก ทางครอบครัวจึงเลี้ยงดูให้มีจิตใจเข้มแข็งโดยใช้กีฬาเป็นสื่อ แต่เธอก็เอาดีทางนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นนักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของสถิติ 1,500 เมตร ตั้งแต่ยังเด็ก โตขึ้นมาอายุ 9 ขวบหันมาเล่นเทนนิส ได้เป็นถึงตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทย
ในด้านการเรียน หลังจบ ม.4 สอบเทียบได้ จึงต้องตัดสินใจเลือกระหว่างเล่นเทนนิสกับเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ว่าความคิดตอนนั้นอยากมีชีวิตเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น พอสอบเอนทรานซ์ติด ในสาขาบริหารธุรกิจ ม.มหิดล จึงเลิกเล่นทีมชาติ หันมาเอาดีด้านการเรียน แต่ยังไม่ทิ้งกีฬามหาวิทยาลัย แข่งขันจนได้เหรียญทอง 2 สมัยซ้อน จากนั้นก็เลิกเล่นเทนนิสแบบถาวร เพราะมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่ารบกวน
หลังเรียนจบปริญญาตรี อายุยังไม่ถึง 20 ปี จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุที่จบปริญญาโทอีกใบแล้วอายุก็ยังไม่ถึง 20 ปี ประสบการณ์การทำงานก็ยังไม่มี ประกอบกับเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทอีกใบในสาขากลยุทธ์องค์กรและบรรษัทภิบาล ซึ่งตอนนั้นสาขานี้ในเมืองไทยยังไม่มีการพูดถึงมากนัก
พอกลับมาเมืองไทยสมัครเข้าเป็นอาจารย์ ที่มหิดล ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 22 ปี โดยเริ่มต้นการสอนในหลักสูตรปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่อายุมากกว่าเธอเยอะมาก บางคนมีลูกสาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอาจารย์ก็ยังมี สอนอยู่ไม่นานก็ลาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก จากนั้นก็กลับมาสอนหนังสือและทำผลงานทางวิชาการจนได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ วนเวียนอยู่ในแวดวงวิชาการได้ประมาณ 9 ปีเศษ ชีวิตก็หันเหเข้าสู่เส้นการเมือง
*************
ประวัติ
ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก ( Rachada Dhnadirek ) ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต12 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เกิดวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ที่ กรุงเทพมหานคร
สถานภาพ โสด (ยังไม่มีแฟน)
การศึกษา
- สำเร็จปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโท 2 สาขา จาก ประเทศอังกฤษ คือ สาขากลยุทธ์องค์กรและบรรษัทภิบาล และ สาขาการจัดการบัญชีและการเงินระหว่างประเทศ
- สำเร็จปริญญาเอก ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ จาก สถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเชีย (เอไอที)
ประวัติการทำงาน
ดร.รัชดา ธนาดิเรก เข้าเป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 รับผิดชอบการสอน ในหลักสูตรปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จนถึงปี 2549 ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง
ข้อมูลอื่นๆ
เคยเป็น นักกีฬาเทนนิส ทีมชาติ ชุดเยาวชน