xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เล็งรื้อกฎระดมทุน ลดเวลา-ขั้นตอนเอื้อ บจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์รับหลักทรัพย์เอื้อบริษัทเข้าระดมทุนได้ง่ายขึ้น พร้อมลดขั้นตอน ยึดแนวตามหลักสากล ระบุต้นทุนต่ำกว่ากู้ธนาคาร หวังดึงบริษัทใน-นอกประเทศระดมทุน “ชาลี” เผยอยู่ระหว่างแก้เกณฑ์ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ด้านผู้อำนวนการฝ่ายจดทะเบียน ชี้ มี.ค.นี้เห็นบริษัทยื่นไฟลิ่ง หลังงบงวดปี 50 เสร็จ ไม่หวั่นหาก 100 บริษัทที่จองสิทธิไว้กับตลท.เล็งยื่นไฟลิ่ง ชี้ระยะเวลาอนุมัติเร็วเหลือเพียง 3 เดือน

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายงานการเสนอขายหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า แผนงานการดำเนินของสายงานด้านการเสนอขายหลักทรัพย์ในปีนี้มี 3 ประเด็นหลัก คือ การทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานให้ง่าย เช่น การกำหนดเกณฑ์ให้บริษัทที่ต้องการเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจ และปฏิบัติได้ง่าย รวมถึงมีระยะเวลาการดำเนินงานที่รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆ มีความสนใจที่จะเข้ามาจดทะเบียน เนื่องจากที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องดำเนินการให้เป็นสากลมากขึ้นเนื่องจากตลาดหุ้นไทยนั้น ยังต้องแข่งขันกับตลาดหุ้นอื่นๆ เพื่อที่จะดึงดูดให้นักลงทุนและบริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในระดมทุนไทย โดยต้องทำให้เกณฑ์ต่างๆ เป็นที่คุ้นเคยของนักลงทุนและบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นั้น ต้องการที่จะเพิ่มสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น การดึงบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน

“เราจะมีการรื้อประกาศเกณฑ์ทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้การดำเนินงานระดมทุนทำได้ง่ายสะดวกและมีต้นทุนต่ำกว่าการกู้แบงก์ แต่เราไม่ได้ตั้งธงว่าจะผ่อนเกณฑ์ทุกเรื่องที่เข้มเกินไป ซึ่งการทำเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นสากลทำได้ 2 อย่าง คือ ถ้ากำหนดเกณฑ์ที่หยุมหยิมเกินไปก็จำเป็นที่จะต้องยกเลิก แต่หากพบว่าในต่างประเทศมีเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ บจ.มีการเปิดเผยข้อมูล การคุ้มครองนักลงทุน หากเรายังไม่มีก็จะปรับให้มีเพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน โดยเราก็จะพยายามที่จะทำเกณฑ์ให้ดีทั้งบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน” นายชาลี กล่าว

นอกจากนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนต้องมีการทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วน ซึ่งในส่วนบริษัทต้องมีการเปิดเผยข้อมูล งบการเงิน ขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินต้องตระหนักถึงหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่บริษัทที่ดีถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะทำให้การระดมทุนทำได้รวดเร็ว ในส่วนของผู้สอบบัญชีต้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบ รับรองงบการเงินอย่างถูกต้อง ฯลฯ

นายชาลี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมแนวทางที่อาจจะมีการแก้ไขเกณฑ์เพื่อทำให้บริษัทที่จดทะเบียนแล้วมีความสะดวกและง่ายในการระดมทุน เพราะบริษัทที่อยู่ใน ตลท.นั้นจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนอยู่แล้วต่างจากบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนใน ตลท.

ในส่วนของเรื่องการบังคับใช้เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2551 นั้น และมีระบบที่ใช้ในการบันทึกคะแนนความผิดจากการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งหากมีการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะมีการบันทึกคะแนนความผิดทั้งบริษัทและบุคคลที่ดูแลนั้น ซึ่งการตัดแต้มนั้นเราจะพิจารณาจากเรื่องที่ปรึกษาจะต้องดูแลแต่กับละเลย เช่น เรื่องการขัดแย้งทางผลประโยชน์

“การมีระบบบันทึกคะแนนความผิดของที่ปรึกษาทางการเงินไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าการทำงานที่ผ่านมาของที่ปรึกษาทางการเงินแย่มาก แต่เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก.ล.ต.ก็ไม่ได้มีการตัดสินความผิดเอง แต่จะมีคณะทำงานประกอบด้วยบุคคลภายในเข้ามาพิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ที่ปรึกษาทางการเงินมีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่”

นางศรัณยา จินดาวณิค ผู้อำนวยการ ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมนี้คาดจะมีบริษัทเข้ามายื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) กับ ก.ล.ต.มากขึ้นเพราะบริษัทต่างๆ นั้น ต้องรอให้งบการเงินประจำปี 2550 เสร็จก่อน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต.แล้วประมาณ 10 บริษัท โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีบริษัทจำนวน 107 บริษัทได้ยื่นความจำนงในการเข้าจดทะเบียนกับ ตลท.ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการเตรียมตัวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างและการจัดทำข้อมูลพอสมควร

สำหรับการที่ ก.ล.ต.มีการมีระบบที่ใช้บันทึกคะแนนความผิดในการปฏิษัติงานของที่ปรึกษาทางการเงินทั้งส่วนของบริษัทและบุคคลที่รับผิดชอบนั้น ทำให้ที่ปรึกษาต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการยื่นเข้ามาได้ทั้ง 107 บริษัท ก.ล.ต.ก็จะสามารถพิจารณาได้จากที่ ก.ล.ต.มีระยะเวลาในการพิจารณาที่เร็วขึ้นภายในเวลา 3 เดือน หากบริษัทมีการจัดเตรียมข้อมูลที่ดีครบถ้วน ไม่ต้องแก้ไขข้อมูลมาก ในช่วงเวลาที่ไม่กระจุกตัว ซึ่งในปี 2550 ก.ล.ต.ใช้เวลาอนุมัติให้บริษัทเสนอขายหุ้นได้ภายในเวลาน้อยกว่า 60 วัน จำนวน 4 บริษัท ช่วง 60-90 วัน จำนวน 1 บริษัท 90-120 วัน จำนวน 3 บริษัท และมากกว่า 120 วัน มีจำนวน 6 บริษัท

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล กล่าวว่า ปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า ก.ล.ต.จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการออกเกณฑ์รับหลักทรัพย์ เช่น หากเกณฑ์บริษัทในต่างประเทศนั้น หากมีความเข้มงวดต่ำกว่าของไทยจะมีการดำเนินการอย่างไร และต้องใช้ระบบบัญชีที่เป็นระดับสากล

สำหรับการเสนอขาย และการซื้อขายใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (TRC) คาดว่าจะออกเกณฑ์ได้ในช่วงครึ่งปีแรก 2551 แต่จะมีการออกและเสนอขายทันทีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับความสนใจของนักลงทุน และผู้ที่จะทำหน้าที่ในการออกเสนอขาย และก.ล.ต.อยู่ระหว่างที่จะขยายการเสนอขายตราสารหนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศให้กับนักลงทุนในวงกว้างมากขึ้น จากปัจจจุบันที่เสนอขายแก่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ส่วนในเรื่องการออกบอนด์ที่เป็นสกุลเงินบาทนั้นสามารถทำให้อยู่แล้วแต่ต้องผ่านกระทรวงการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น