“ธนารักษ์” แจงข้อดี-ข้อเสีย นโยบายการใช้เศษสตางค์ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ระบุ วัยรุ่น-คนทั่วไป มักจะเก็บเหรียญ 25-50 สต.ไม่ยอมนำออกมาใช้ ส่งผลให้เงินย่อยหายจากระบบเดือนละ 24 ล้านเหรียญ แนะทางออกรัฐบาล หากต้องการใช้เป็นกลไกปรับขึ้นราคา ควรเร่งรณรงค์ให้ ปชช.เห็นคุณค่าของเศษเงิน
วันนี้ (19 ก.พ.) นางสาวจารุวรรณ จันทิมาพงษ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าพบ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจเศษสตางค์ของนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องยอมรับว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า วัยรุ่นมีการนำเหรียญสลึง และเหรียญ 50 สตางค์ ออกมาใช้จ่ายเพียง 50% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปก็มักจะเก็บเหรียญดังกล่าว และนำออกมาใช้เพียง 10% นับว่าพฤติกรรมการใช้เหรียญเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีผลต่อการหมุนเวียนเงินในระบบ เพราะแต่ละเดือน กรมธนารักษ์จะผลิตเหรียญสลึง และเหรียญ 50 สตางค์ ออกสู่ระบบชนิดละ 12 ล้านเหรียญ รวมเป็น 24 ล้านเหรียญ แต่สามารถดึงกลับมายังคลังได้เพียงเดือนละ 2-3 แสนเหรียญ
ดังนี้ การผลิตเหรียญดังกล่าวจึงไปตกค้างอยู่กับประชาชนจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเงินส่วนหนึ่งหายออกไปจากระบบทุกเดือน ซึ่งหากรัฐบาลต้องการยืนยันให้ผลิตเหรียญดังกล่าวเพิ่ม ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะปัจจุบันสามารถผลิตได้เดือนละ 14 ล้านเหรียญ
นางสาวจารุวรรณ ยอมรับว่า การผลิตเหรียญเศษสตางค์เป็นการส่งออกสู่ระบบทางเดียวโดยไม่ไหลกลับมาเข้าสู่คลัง ขณะนี้เหรียญสลึงอยู่ในระบบประมาณ 2,300 ล้านเหรียญ และเหรียญ 50 สตางค์ ประมาณ 16,000 ล้านเหรียญ และพฤติกรรมดังกล่าวก็เหมือนกับต่างประเทศ ทั้งเหรียญเซนต์ของดอลลาร์สหรัฐฯ เหรียญเซนต์ของยูโร และเงินเยนของญี่ปุ่น ประชาชนก็มักใช้เหรียญดังกล่าวน้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากจะใช้แนวทางเศรษฐกิจเศษสตางค์ คงต้องรณรงค์ให้ประชาชนนำเหรียญออกมาใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ อาจจะมีประชาชนที่เมื่อเจอกับแม่ค้า หรือร้านค้าบ่นไม่อยากรับเหรียญ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของเหรียญในระบบ ที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ ควรกำหนดการขึ้นราคาสินค้าให้ตรงกับต้นทุน เช่น หากต้นทุนเพิ่มขึ้น 5 สตางค์ หรือ 50 สตางค์ ไม่ควรปรับขึ้นราคาครั้งละ 1 บาท 3 บาท หรือ 5 บาท เพราะจะทำให้อัตราเร่งของการเพิ่มราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก