xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวโนวาฯถือหุ้น TBANK 49% รุกเพิ่มสินเชื่อรายใหญ่-เอสเอ็มอี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โนวาสโกเทียแบงก์ พร้อมถือหุ้นธนชาต 49% คาดไตรมาส 3 ดำเนินการเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน พร้อมเปิดแผนกลุ่มทุนธนชาต 3 ปี ดันสินทรัพย์แตะ 500,000 ล้านบบาท รุกธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอีมากขึ้น ส่วนปีนี้ยังเน้นธุรกิจเช่าซื้อคาดขยายสินเชื่อได้เท่าตลาดที่ 5%

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ในฐานะประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ประมาณเดือนมิถุนายนธนาคารแห่งโนวาสโกเทียจะเข้ามาถือหุ้นในธนาคารธนชาต เพิ่มเป็น 49% จากปัจจุบันถืออยู่ 24.9% ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติแล้ว จึงเหลือเพียงการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน และคาดว่า ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ทั้งนี้ ตามแผนงานเดิมธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย จะเข้ามาถือหุ้นใน TBANK โดยซื้อหุ้นต่อจาก TCAP เป็นเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งหากแผนดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ TCAP มีรายได้เข้ามา 7,000 ล้านบาททันทีที่สัดส่วนของโนวาสโกเทียครบ 49%

สำหรับเป้าหมายธุรกิจของกลุ่มทุนธนชาต ในอีก 3 ปี (2551-2553) นั้น ได้ตั้งเป้าหมายจะรักษาการเป็นผู้นำในตลาดเช่าซื้อ การเพิ่มสัดส่วนการให้สินเชื่อรายใหญ่และเอสเอ็มอี รวมถึงจะเพิ่มรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมและการขายผลิตภัณฑ์พ่วง การยกระดับมาตรฐานการให้บริการและการบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่ดีกว่าอุตสาหกรรม

อีกทั้งตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3 -3.5% ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 55% ของรายได้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 4.5% อัตราผลตอบแทนต่อทุน (ROE ) อยู่ที่ 15% ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ปัจจุบันอยู่ที่ 12% หรือ 23,661 ล้านบาท ซึ่งในอีก 3 ปีจะอยู่ที่ 11.6% หรือเป็นเงินกองทุน 38,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม และเพียงพอในการใช้ขยายธุรกิจและในอนาคตหากธนาคารดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซิล 2 จะทำให้เงินกองทุนลดลงไปประมาณ 0.7%

โดยธนาคารจะมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 240,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 62% จากปัจจุบัน 80% สินเชื่อรายใหญ่ 20% จากปัจจุบัน 8.6% สินเชื่อเอสเอ็มอี 10% จากปัจจุบัน 4.5% และสินเชื่อรายย่อย 8% จากปัจจุบัน 7.1% และตั้งเป้าจะมีสินทรัพย์ประมาณ 500,000 ล้านบาท มีสาขาเพิ่มเป็น 350 สาขา จากปัจจุบัน 160 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มเป็น 525 เครื่อง จากปัจจุบัน 275 เครื่อง

ส่วนของธุรกิจเงินฝากธนาคารตั้งเป้าระดมเงินฝากได้ถึง 430,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ธนาคารแห่งโนวาสโกเทียได้เข้ามาร่วมดำเนินงาน มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การบริหารเงินภายในธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถบริหารผลตอบแทนได้สูงกว่าต้นทุนเงินฝาก

นายศุภเดช กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 2551 ส่วนปีนี้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 58,000-60,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 24% จากปีก่อนมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท โดยในปีนี้จะหันไปรุกในสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น

ส่วนกรณี พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น เชื่อว่า จะมีผลดีกับธนาคารและเชื่อว่าจะมีเงินฝากจากที่อื่นไหลเข้ามา เนื่องจากมีความมั่นใจที่ธนาคารมีความมั่นคงสูง

นายบัณฑิต ชีวะธนรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าตลาดรถยนต์โดยจะขายตัว 5% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการเมืองชัดเจนผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้นจากปีที่แล้วที่ตลาดรถยนต์ติดลบประมาณ 10% ดังนั้น ในปีนี้ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายสอดคล้องไปกับตลาดรวม โดยคาดว่าจะ หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า โดยในปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่รถยนต์มือสองมากขึ้น

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุนธนชาต กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่ารายได้ของบริษัทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-30% จากปีก่อนหน้าที่บริษัทมีรายได้รวมประมาณ 19,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 53% มาจากการทำธุรกิจของธนาคารธนชาต และเชื่อว่า กำไรสุทธิในปีนี้น่าจะปรับตัวดีกว่าปีก่อนหน้าเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 บริษัท ทุนธนชาต และบริษัทย่อยมีผลกำไร 2,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,350 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 92% มีสินทรัพย์รวม 321,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.2% ในส่วนของธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทุนธนชาต มีกำไรในปี 2550 จำนวน 991 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 766 ล้านบาท หรือ 340% มีสินทรัพย์รวม 291,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.1% มีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 12% ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 8.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น