xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กรุงไทยกำไรวูบ 7 พันล. เหตุกันสำรองอ่วม-ส่วนต่าง ดบ.หด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์กรุงไทยจุกผลกำไรปี 50 วูบกว่า 50% เหลือแค่ 6.1 พันล้าน ระบุเหตุกันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 และการด้อยค่าตราสาร CDO เพิ่ม 15,900 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้เน่าเพิ่มเป็น 6.89% จากเดิม 6.26% ด้าน"เกียรตินาคิน"ประกาศกำไรสุทธิ 2,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาท หรือ 5.92%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2550 ว่า กำไรสุทธิธนาคารมีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,113 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลง 7,685 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 55.70 จากปี 2549 เนื่องมาจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเท่ากับ 44,273 ล้านบาท ลดลง 2,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.50 จากปี 2549 เป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินฝากลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้(NIM)ในปี 2550 เท่ากับร้อยละ 3.79 ลดลงจากปี 2549 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 4.06 เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยลดลงในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในปี 2550 ธนาคารได้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 19,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,002 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.20 จากปี 2549 โดยในปี 2550 ธนาคารได้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 300 ล้านบาทต่อเดือน และได้กันสำรองเพิ่มในระหว่างปีอีกจำนวน 15,900 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพียงพอตามเกณฑ์ IAS 39 ทั้งนี้ สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าวได้รวมถึงการตั้งสำรองเผื่อความสูญเสียจากการลงทุนใน CDO (Collateralized Debt Obligations)ตามเกณฑ์การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง (Prudent Banking Practice) ด้วยแล้ว

ส่วนเงินให้สินเชื่อรวม ณ 31 ธันวาคม 2550 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อรวม (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและเงินให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน) เท่ากับ 958,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,815 ล้านบาท (ร้อยละ 3.43) จาก ณ 31 ธันวาคม 2549

สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs)ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ 31 ธันวาคม 2550 จำนวน 96,084 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น จำนวน 6,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.13 จาก ณ 31 ธันวาคม 2549 การเพิ่มขึ้นของ NPLs ทำให้สัดส่วน NPLs (gross) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.22 ณ 31 ธันวาคม 2549 เป็นร้อยละ 9.53 ณ 31 ธันวาคม 2550 และสัดส่วน NPLs (net) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.26 ณ 31 ธันวาคม 2549 เป็นร้อยละ 6.89 ณ 31 ธันวาคม 2550

และมีเงินกองทุน ณ 31 ธันวาคม 2550 ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 96,408 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.41 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 4.25 ที่ธปท.กำหนด ส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 128,190 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 15.17 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 8.50 ที่ธปท. กำหนดเช่นกัน ธนาคารเชื่อว่า เงินกองทุนในระดับนี้ ทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถขยายธุรกิจได้ตามแผน

ขณะที่นายธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ในปี 2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.92 เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลในปี 2550 รวม 6,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 679 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 โดยมีรายได้จากการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงิน 3,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 744 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 30.2 เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจเช่าซื้อโดยเงินให้สินเชื่อตามสัญญาเช่าซื้อรวม 42,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 42.4 รายได้จากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง 1,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 จากปี 2549 อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อของธนาคารและบริษัทย่อยจำนวน 1,970 ล้านบาทลดลง 278 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากรายได้ในปี 2549 เนื่องมาจากการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย MLR หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในปี 2550 รวม 776 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 417 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ 358 ล้านบาท ในปี 2549 อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยบันทึกหนี้สูญรับคืนจำนวน 136 ล้านบาท ในปี 2550 เทียบกับจำนวน 76 ล้านบาท ในปี 2549 และธนาคารและบริษัทย่อยบันทึกขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 4 ล้านบาท ในปี 2550 รวมรายการที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิหลังหักหนี้สูญและหนี้สงสัย จะสูญและขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2550 รวม 3,443 ล้านบาท ลดลง 54 ล้านบาทจากปี 2549
กำลังโหลดความคิดเห็น