คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
พี่หมอย่องเข้ามาในห้องรับแขก ได้ยินเสียงเจ้าเก่งอ่านข่าวจากนสพ.ให้คุณชูสง่าฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยไม่อยากขัดจังหวะ พี่หมอจึงแอบเงี่ยงหูฟัง ได้ความประติดประต่อว่า
...เคยมีอาการหมอน...เสื่อมมาก่อนตอน...คนละก้าว...ถึงแม่สายแต่อาการ...
...แต่ล่าสุด...ร้าวมาที่แขนซ้าย มี...ชา และ...ทั้ง5มีอาการอ่อนแรง
อ๋อ เรื่องของ ตูน บอดี้สแลม แน่นอน “สวัสดีครับเฮีย” พี่หมอทักทายแล้วพูดต่อ “เจ้าเก่งอ่านต่อเลย พี่ฟังด้วย” ...ผลการตรวจ MRI พบหมอนรองกระดูกต้นคอข้อที่ C6 C7 และข้อที่ C7T1 มีหมอนรองกระดูกต้นคอเบียดโดนเส้นประสาทบริเวณข้างซ้ายออยู่ 2 ข้อ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มือของคุณตูนอ่อนกำลังลง...อาการเจ็บปวดครั้งนี้ไม่มีผลกระทบกับเสียงร้อง แต่จะมีผลกระทบในลักษณะท่าทางลีลาการร้องเพลง ซึ่งหมอไม่อยากให้ตูนขยับคอมาก ห้ามโยก...ตูนกำลังใจดีมาก และทำใจยอมรับหากจะต้องเปลี่ยนสไตล์ชีวิตของตัวเองบ้าง... “โอเค อ่านไป เดี๋ยวจบแล้วหมอช่วยสรุปโรคนี้ให้เฮียฟังหน่อย...สงสัยเฮียก็เป็นเหมือนกันโรคนี้”
โรครากประสาทคอ (Cranial Radiculopathy) หมายถึง พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจากรากประสาทถูกกดเบียด เกิดการอักเสบ ส่งผลให้มีอาการปวดคอร้าวไปตามสะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขนและมือ ตามแนวที่เลี้ยงด้วยรากประสาทเส้นนั้นๆ อาจมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย พบมากที่รากประสาทคอระดับที่ 5,6,7 และ 8 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงระดับเดียว ข้างใดข้างหนึ่ง
โรครากประสาทคอ มีหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ส่งผลให้รากประสาทถูกกดเบียดจากหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น ปุ่มกระดูกงอก และ/หรือเอ็นกระดูกสันหลังหนาตัว หรือมีหินปูนมาเกาะ ภาวะเหล่านี้ส่งผลให้ช่องทางออกของรากประสาทตีบแคบ จึงเกิดการถูกกดทับ และเกิดการอักเสบบวมขึ้น นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้หักหรือเคลื่อนมากดเบียดเส้นประสาทได้ ซึ่งอาจพบอาการต่างๆตามระดับของรากประสาทที่ถูกกดเบียด ดังนี้
-รากประสาทคอเส้นที่5 (C5) จะมีอาการที่ต้นแขน
-รากประสาทเส้นที่6 (C6) จะมีอาการที่นิ้วหัวแม่มือ
-รากประสาทเส้นที่ 8 (C8) จะมีอาการที่นิ้วก้อย
-และรากประสาทส่วนอกเส้นที่1 (T1) จะมีอาการด้านในต้นแขน
เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาจมีอาการชาแขน กล้ามเนื้อแขน หรือมืออ่อนแรง รีเฟล็กซ์ของกล้ามเนื้อแขนลดลงหรือหายไป
การดูแลตนเองเบื้องต้น ในกรณีที่อาการปวดร้าวและอาการชา หรือความรู้สึกเพี้ยนมีเพียงเล็กน้อย ประกอบด้วย
-การกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบในกลุ่มเอนเสด
-หลีกเลี่ยงการก้มคอ-เงยคอ หรือหันคอเต็มที่
-การใส่ปลอกคออ่อน ช่วยลดอาการปวดร้าวจากการเคลื่อนไหวคอ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการเป็นครั้งแรก มีโอกาสทุเลาค่อนข้างสูงใน 4-8 สัปดาห์ และควรรีบไปพบแพทย์โดยไม่รอจนถึง 4-8 สัปดาห์ เมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดร้าวรุนแรงขึ้น
การป้องกันโรครากประสาทคอ ทำได้ดังนี้
-การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่คอ หรือการเคลื่อนไหวคอรุนแรง
-เรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการเล่นกีฬาที่รุนแรง
-หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการจราจร
-เรียนรู้การบริหารคอด้วยวิธีที่ถูกต้อง (จากแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด)
-หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ (งดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด)
“แต่สำหรับนักกอล์ฟเรา มักเสี่ยงเป็นกระดูกที่เอวไปเบียดรากประสาทที่ลงไปขา จากการสวิงที่ผิดท่าและรุนแรงครับเฮีย” พี่หมอสรุปส่งท้าย