วิถึชีวิตของเจ้านายพระองค์หนึ่ง รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าคนหนุ่มทุกคนในกรุงสยาม เป็นคนไทยคนแรกที่เข้ามหาวิทยาลัยของอังกฤษได้ และจบการศึกษาด้วยการกวาดรางวัลพิเศษมาหลายรางวัล จนนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้มาแจกถึงกับเอ่ยว่าแจกคนเดียวเสียเมื่อยมือ ได้รับโปรดเกล้าฯจาก ร.๕ ให้เป็นทูตไทยประจำยุโรปคนแรก และเป็นทูตคุม ๑๒ ประเทศถึงอเมริกา สร้างคุณงามความดีจนสมเด็จพระปิยมหาราชสถาปนาบรรดาศักดิ์จากหม่อมเจ้าขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และทรงล้อว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ของพระองค์ แต่แล้วชีวิตกลับผกผันอย่างไม่มีใครคาดคิด ต้องลี้ภัยไปบวชที่ลังกา แม้จะได้รับความศรัทธาจากผู้คนที่นั่นอย่างสูง ได้ขึ้นเป็นสังฆนายกนครโคลัมโบ และเป็นผู้ขอให้รัฐบาลอังกฤษนำพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ขุดได้ที่อินเดียถวายให้ ร.๕ ซึ่งส่วน ๑ ในจำนวนนี้บรรจุอยู่ที่ภูเขาทองในปัจจุบัน แต่ก็ถูกห้ามเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทย เมื่อเข้ามาได้ในสมัย ร.๖ ก็ถูกบังคับให้สึก ชีวิตฆราวาสที่เหลือแต่เพียงตัวเปล่าต้องร่อนเร่พเนจรจนทรงนิพนธ์ในชีวประวัติของพระองค์เองไว้ว่า “เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอา”
เจ้าของชีวิตที่เหมือนนิยายของเจ้านายพระองค์นี้ก็คือ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม อธิบดีกรมช่างศิลป์ เมื่อประสูติมีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ขณะพระชนม์ ๑๗ ชันษาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไปทอดพระเนตรสุริยปราคาที่หว้ากอกับพระบิดาด้วย กรมขุนราชสีหวิกรมประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพิษไข้ป่าเช่นเดียวกับพระจอมเกล้าฯ ส่วนหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็ประชวรด้วยไข้ป่าเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แต่ด้วยความเป็นคนหนุ่มแข็งแรงจึงทรงรอดชีวิตทั้งสองพระองค์
ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระบิดานำตัวหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ไปถวายตัวกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์ทรงขันชื่อปฤษฎางค์ ที่แปลว่าหลัง จึงโปรดล้อว่า กระดูกสันหลัง พระองค์ปฤษฎางค์ทรงถือว่าเป็นมงคลที่ทรงล้อ และต่อมาก็ถือว่าท่านเป็นกระดูกสันหลังของพระเจ้าอยู่หัว และมักนำคำนี้ไปใช้เป็นนามปากกา
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้รับเลือกเป็นนักเรียนหลวงไปเรียนที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ สิงคโปร์ พร้อมกับพระอนุชาในรัชกาลที่ ๕ อีกหลายองค์ จากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และสอบเข้าคิงส์คอลเลจของกรุงลอนดอนได้ แม้จะทรงเข้าเรียนหลังเพื่อนร่วมรุ่นไป ๑ เทอม แต่เมื่อจบการศึกษาในหลักสูตร ๓ ปี ได้รับประกาศนียบัตรวิศวกรรมโยธา พร้อมกับได้รับรางวัลพิเศษแบบกวาดเรียบคนเดียวมาอีกหลายรางวัล จนหนังสือพิมพ์ The Time นำไปลงข่าว และนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้มอบรางวัลถึงกับกล่าวสุนทรพจน์ในการมอบรางวัลว่า
“ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นการแสดงความรู้สึกออกมาอย่างมากมายเช่นบรรดานักศึกษาในที่ประชุมนี้มาก่อนเลย เมื่อท่านคณบดีประกาศให้สุภาพบุรุษหนุ่มคนหนึ่งขึ้นมาปรากฏกายบนเวที สุภาพบุรุษผู้ดั้นด้นมาจากประเทศอันไกลโพ้นอีกมุมหนึ่งของโลก เพื่อเข้ารับการศึกษาในประเทศนี้ และได้เห็นเพื่อนนักศึกษาพากันโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดีด้วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในการที่สุภาพบุรุษผู้นี้ได้แสดงความสามารถอันน่าตื่นตะลึงด้วยการผูกขาดรางวัลต่างๆอย่างชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องยื่นมือออกไปหลายครั้งมาก เพื่อมอบรางวัลให้”
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้นำรางวัลที่ได้รับมาถวายพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงชื่นชมยินดียิ่ง ได้พระราชทานเงินและเคริ่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นกำลังใจ โปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการในด้านสำรวจคลองต่างๆเพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำประปา
หม่อมเจ้าปฤษฎางค์รับราชการในช่วงนี้ได้ปีเศษ ก็ได้ขอพระบรมราชานุญาตไปเรียนต่อที่อังกฤษอีก ทั้งยังได้รับมอบหมายให้เข้าฝึกงานด้านโรงกษาปน์ด้วย ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในช่วงนี้ สยามเกิดกรณีพิพาทกับนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ถึงกับเรียกเรือรบอังกฤษเข้ามาจะปิดปากอ่าวไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงส่งราชทูตคณะหนึ่งไปยังราชสำนักอังกฤษเพื่ออธิบายให้ทราบความเป็นมาของเรื่องนี้ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ขณะมีพระชนมายุได้ ๒๙ ชันษาได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมกับคณะทูตชุดนี้เป็นตรีทูตและล่าม เมื่อการเจรจาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ยับยั้งเรือรบอังกฤษไว้ได้ ทั้งนายน็อกซ์ยังถูกเรียกตัวกลับไปอังกฤษ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ยังได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนทางด้านเจรจาความเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาระบบป้องกันชายทะเลและปากแม่น้ำที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยอีกด้วย
เมื่อสำเร็จการศึกษาและการฝึกงานในช่วงนี้แล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็กลับมาไทย แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ต้องออกไปอีก โดยได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นอัครราชทูตพิเศษ ไปเจริญสัมพันธไมตรีถวายของขวัญแด่เจ้าชายแห่งออสเตรีย และมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ซึ่งอภิเษกสมรสในระยะเวลาใกล้ๆกัน ทั้งยังได้รับมอบหมายให้จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่กำลังสร้าง ซื้ออาวุธให้กรมทหารหน้า เลือกจ้างนายทหารออสเตรียเข้ามาฝึกทหารไทย ทั้งโปรดเกล้าฯให้นำพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และบุตรหลานข้าราชการอีกหลายคนออกไปศึกษาที่อังกฤษด้วย
แต่เมื่อเสร็จงานต่างๆในครั้งนี้ เตรียมตัวจะกลับกรุงเทพฯ ก็ได้รับโทรเลขด่วนจากราชเลขาธิการว่า
“อย่าคิดกลับเลย เตรียมอยู่เถิด ได้ส่งพระราชสาส์น ข้าราชการผู้ช่วยออกไป ให้รับราชการเป็นเป็นอัครราชทูต ประจำราชสำนักแลสำนักรีปับลิกประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีทุกประเทศแล้ว ให้ฟังหนังสือราชการ”
นั่นก็คือการเริ่มตั้งสถานทูตสยามขึ้นในกรุงลอนดอนเป็นแห่งแรก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประเทศต่างๆรวม ๑๒ ประเทศถึงอเมริกาด้วย ขณะที่หม่อมเจ้าปฤษฎางค์มีพระชนมายุ ๓๒ ชันษา และมีงานสำคัญในการเจรจาเรื่องภาษีสุรากับประเทศเหล่านี้ที่สยามเสียผลประโยชน์อยู่มาก ซึ่งหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็สามารถเจรจากับอังกฤษคู่ค้าสำคัญสำเร็จเป็นประเทศแรก ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นๆเป็นเรื่องง่ายไปด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยินดีในผลงานของหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ นำพระสุพรรณบัฏสถาปนาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ไปพระราชทานถึงกรุงลอนดอน ต่อมาพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทำเรื่องนี้สำเร็จทั้ง ๑๒ ประเทศในเวลา ๒ ปี
เพื่อให้งานด้านต่างประเทศของสยามก้าวหน้าสำเร็จไปด้วยดียิ่งขึ้น และเป็นไปตามคำร้องขอของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่ให้กระทรวงกาต่างประเทศหาทางแบ่งงานของพระองค์ไปบ้าง จึงโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ไปเป็นเอกอัคราชทูตกรุงลอนดอน และมีหน้าที่ดูแลอเมริกาด้วย ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปเปิดสถานทูตสยามแห่งที่ ๒ ที่กรุงปารีส และดูแลประเทศในยุโรปรวม ๑๐ ประเทศ
ระหว่างที่รับหน้าที่ทูตสยามประจำยุโรปนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เข้าเฝ้าประมุขหลายประเทศ และเข้าสมาคมของประเทศในยุโรปอย่างโดดเด่น ทรงบริจาคเงินให้โรงพยาบาลต่างๆในหลายประเทศ จนทำให้พระจักพรรดินีของเยอรมันเชิญไปเข้าเฝ้า เพื่อจะขอบพระทัยที่ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในอุปถัมภ์ของพระนาง
เมื่อเทศบาลนครปารีสได้ตัดถนนสายใหม่ผ่านสถานทูตไทย ก็ทรงขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนสยาม” หรือ “RUE de SIAM” ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อครั้งที่ทูตพม่าเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อขอให้ช่วยขัดขวางอังกฤษที่ยึดพม่าไปครึ่งประเทศแล้ว โดยเสนอผลประโยชน์ให้ฝรั่งเศสด้วย แต่ความจริงฝรั่งเศสกับอังกฤษแบ่งเขตยึดครองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กันเรียบร้อยแล้ว จึงไม่กล้าก้าวก่ายในเรื่องนี้ แกล้งถ่วงเวลาไม่ให้ทูตพม่าเข้าพบประธานาธิบดี จนอังกฤษเข้ายึดพม่าได้หมดประเทศ ทูตพม่าเลยเคว้งหมดเงินค่าใช้จ่าย รอวันที่จะถูกไล่ออกจากโรงแรมไปนอนข้างถนน หัวหน้าคณะราชทูตพม่าจึงมาปรับทุกข์กับทูตสยาม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเห็นใจคณะราชทูตพม่า จึงช่วยเจรจาขอให้ทางฝรั่งเศสช่วยออกค่าใช้จ่ายส่งทูตพม่ากลับบ้านด้วย
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงรายงานเรื่องนี้มาทางกรุงเทพฯพร้อมด้วยข้อมูลลับที่ได้มาจากราชทูตพม่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงหวาดหวั่นกับการกระทำของอังกฤษอย่างที่กงสุลน็อกซ์เคยแสดงฤทธิ์เดชมาแล้ว จึงทรงมีพระอักษรถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้ถวายความคิดเห็นว่าพระองค์ควรจะอย่างไรให้สยามปลอดภัยจากการล่าอาณานิคม
แต่แทนที่จะถวายความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ใกล้ชิดกับการเมืองยุโรปอย่างใกล้ชิด พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับเรียกประชุมเจ้านายและข้าราชการในสถานทูตทั้ง ๒ ของยุโรป ร่วมกันร่างหนังสือถวายความเห็น
คณะผู้ถวายความเห็นคณะนี้ ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ๓ พระองค์ คือ
พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์
พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา
และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พร้อมด้วยข้าราชการในคณะราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนและปารีสที่เป็นสามัญชนอีก ๗ คน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “คณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๐๓” โดยร่วมกันลงนามถวายคำกราบบังคมทูลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๗
สรุปข้อความกราบบังคมทูลในครั้งนี้ก็คือ เสนอให้พระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กระจายพระราชอำนาจไปให้ข้าราชการบริหารกรมกองโดยไม่ต้องรอพระราชานุญาต
เรื่องนี้ถ้าจะมองว่าเป็นการบังอาจ โทษก็ต้องหัวขาดประการเดียว แต่สมเด็จพระปิยมหาราชก็ไม่ได้ทรงแสดงว่ากริ้วแต่อย่างใด ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลนี้อย่างยืดยาวเช่นกัน นอกจากขอบใจทุกคนที่เห็นการปกครองของประเทศอื่นแล้วระลึกถึงประเทศของตน ปรารถนาจะป้องกันอันตราย ทรงยอมรับความเห็นที่กล่าวมา แต่ทรงอธิบายให้ทราบว่าเหตุใดจึงยังไม่เหมาะที่จะทำในตอนนั้น
หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีคำสั่งกระทรวงต่างประเทศ เรียกข้าราชการการสถานทูตทุกคน รวมทั้งเจ้านายทั้ง ๓ พระองค์กลับสยาม
เรื่องนี้จึงถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นสาเหคุที่ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางต์ประสบชะตากรรมพลิกผัน จากรุ่งโรจน์สูงสุดจนร่วงลงสู่ดิน
แต่หลักฐานที่ปรากฏ เจ้านายที่ถูกเรียกตัวกลับมานี้ต่างได้รับโปรดเกล้าฯเข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญในยุคปฏิรูปกันทุกพระองค์ ส่วนสามัญชนเหล่านั้นก็ได้กลับไปประจำสถานทูตอีก สำหรับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่กลับมาช้ากว่าคนในกลุ่ม เพราะได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปเข้าประชุมสหภาพสากลไปรษณีย์ที่กรุงเบอร์ลิน และติดต่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญไปรษณีย์ของเยอรมันให้เข้ามาช่วยวางรากฐานไปรษณีย์ไทย เมื่อกลับมาก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลข ซึ่งเป็นงานที่สำคัญของประเทศในยามนั้น ทั้งยังทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เป็นองคมนตรี และเป็นผู้ดูแลถวายการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ ทั้งคาดหมายกันว่าตำแหน่งที่รอท่านอยู่ก็คือ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการที่กำลังจะตั้งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่เหมาะสมกับที่ท่านเรียนมายิ่งกว่าใคร
ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไม่ได้ตกต่ำลงแต่อย่างไร ในช่วงนี้
แต่แล้วหลังจากนั้น ความพลิกผันก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อกรมขุนนริศรานุวัติวงษ์ สมเด็จครูผู้เป็นช่างใหญ่ของกรุงสยาม เข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ อีกทั้งบ้านพระราชทานที่กำลังก่อสร้างต่อเติมให้สมกับเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าก็ถูกระงับ เนื่องจากมีเหตุระแคะระคายเกิดขึ้น แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ยังทรงได้รับมอบหมายงานสำคัญ
ในปี ๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมคณะสมเด็จพระอนุชา กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ขากลับเมื่อเรือมาถึงเซี่ยงไฮ้ กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯทรงประชวร พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ก่อเรื่องร้ายแรงขึ้น แทนที่จะอยู่เฝ้าไข้กลับเขียนหนังสือลาออกจากราชการและขอลาบวช วางไว้ในห้องบรรทมแล้วหายตัวไปโดยไม่บอกกล่าวใคร มีข่าวลือตามมาว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งปลอมตัวเป็นชายหนีออกจากเมืองไทยพร้อมด้วยทรัพย์สินมีค่าของสามี ไปปรากฏตัวที่ฮ่องกง ต่อมามีผู้เห็นหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ไปปรากฏตัวกับผู้หญิงคนนี้ที่ไซ่ง่อน
ข่าวลือนี้จะเป็นจริงแค่ไหน และอะไรคือสาเหตุที่เจ้านายผู้เป็นคนหนุ่มมีชีวิตรุ่งโรจน์ที่สุดของกรุงสยาม ตัดสินพระทัยกระโดดจากฟ้าลงสู่ดิน โปรดติดตามในตอนหน้านะครับ