ตลาดซื้อ-ขายนักเตะซัมเมอร์นี้หงอยเหงาน่าดู เพราะเป็นฤดูกาลที่ไม่ปกติจากผลกระทบเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปรีซีซันสั้นกว่าปกติกลางเดือนกันยายนนี้ก็จะต้องกลับมาเตะกันแล้ว นอกจากนี้ ทำให้แทบจะทุกทีมต้องรัดเข็มขัดจากภาวะเศรษฐกิจประคองตัวให้อยู่รอดไปก่อน แม้กลับมาเตะได้แล้วแต่รายได้หลายอย่างยังขาดหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนบอลที่ยังห้ามเข้าสนามหรือจากนี้อาจจะเข้าได้แต่คงจะเริ่มแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ก่อน
สโมสรใหญ่ที่พอมีเงินถุงเงินถังไม่กระทบมากนัก แต่ทีมระดับกลางๆ ไปจนถึงเล็กนั้นต้องงัดโมเดลต่างๆ ออกมานักเตะคนไหนพอขายได้ขายด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก แต่บางทีต้องตัดสินใจขายนักเตะซูเปอร์สตาร์ออกไป ซึ่งตรงจุดนี้แฟนบอลต้องทำใจและทำความเข้าใจ
“เจ้าค้างคาว” บาเลนเซีย แห่งศึก ลา ลีกา สเปน คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวอย่างชัดเจน ภายใต้การบริหารของเจ้าของทีมอย่าง ปีเตอร์ ลิม นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ที่เข้ามาฮุบถิ่น เมสตายา เมื่อปี 2014
ลิม ตัดสินใจครั้งสำคัญผุดแผนที่ชื่อว่า l’ow-cost project’ หรือการทำทีมแบบ “low cost” (ต้นทุนต่ำ) นักเตะดังถูกทยอยขายไปทีละคนในช่วงซัมเมอร์นี้ไล่ตั้งแต่ เฟร์ราน ตอร์เรส ปีกดาวโรจน์ทีมชาติสเปน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สอยไปด้วยราคาเพียง 20.8 ล้านปอนด์ (ประมาณ 800 ล้านบาท) ฟรองซิส โกเกแล็ง กองกลางชาวฝรั่งเศส ไปอยู่กับ บียาร์ริล ด้วยค่าตัว 13 ล้านยูโร (ประมาณ 480 ล้านบาท) ดาเนียล ปาเรโฆ กองกลางชาวสเปน ไปอยู่กับ บียาร์ริล และล่าสุด โรดริโก ตัวรุกชาวสเปน บรรลุข้อตกลงไปอยู่กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด
ปาเรโฆ กล่าวว่า “พวกเขาแจ้งว่าไม่ต้องการให้ผมอยู่กับทีมต่อไป แน่นอนมันอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ถูกหรือแนวทางที่ทำกับผมแบบนั้น ผมอยากอยู่กับ บาเลนเซีย ต่อไป แต่ไม่เป็นเช่นนั้นและตอนนี้ต้องมองถึงการไปร่วมทีมที่มั่นคงกว่า ที่ที่ทุกคนบอกว่ามีอะไรที่ยอดเยี่ยมรออยู่เบื้องหน้า”
รายของ โกเกแล็ง, ปาเรโฆ และ โรดริโก อาจจะพอทำใจได้ไม่ยาก เพราะอายุอานามแตะหลัก 29-30 ปีกันแล้ว แต่ในรายของ ตอร์เรส นั้นเรียกได้ว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า นายใหญ่ แมนฯซิตี้ ได้ของดีราคาถูกแถมอายุเพียง 20 ปีเท่านั้นเอง
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้แฟนบอล “เจ้าค้างคาว” ตั้งคำถามกับ ลิม ว่าทำไมถึงทำเช่นนี้ เพราะดูทรงแล้วคงไม่หยุดแค่ 4 รายที่เทขายออกไป แต่จะมีโละแลกกับเงินอีกอย่างแน่นอน เพราะ บาเลนเซีย คือหนึ่งในทีมใหญ่ แต่ละฤดูกาลสาวกคาดหวังถึงโควตายุโรปเป็นอย่างน้อย ไม่ว่าจะ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก หรือ ยูโรป้า ลีก แต่ถึงตอนนี้ทิศทางที่สโมสรกำลังเดินเหมือนจะไม่ได้ไปสู่ทางแห่งความสำเร็จและทะเยอทะยานนั้นแล้ว
งานนี้สาวก บาเลนเซีย ต้องการคำอธิบายเป็นการด่วน ซึ่ง อนิล มูร์ธี มือขวาของ ลิม ที่นั่งตำแหน่งประธานสโมสรพูดอย่างชัดเจนว่าสโมสรได้รับผลกระทบอย่างหนักทางด้านการเงินซึ่งผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อันนี้ก็เข้าใจได้ แต่มุมของแฟนบอลจะให้ชมเกมแบบหมดอาลัยตายยากลงไปเตะก็มีแต่แพ้-เสมออย่างนั้นหรือ นักเตะที่อยู่จะรู้สึกอย่างไรต้องแบกความหวังเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แล้วอะไรคือแรงกระตุ้นเตะให้อยู่รอดไม่ตกชั้นจาก ลา ลีกา สเปน เท่านั้นพอหรืออย่างไร
มูร์ธี แจ้งว่า "บาเลนเซียย มีฤดูกาลที่ยากลำบากไม่น้อย เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบและควบคุมต้นทุนอย่างรัดกุม เพราะหากเกิดความผิดพลาดสโมสรอาจตกที่นั่งลำบากถึงขั้นล้มละลายก็ได้ เราจึงต้องจัดการเพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้"
แน่นอนมุมของแฟนบอลกับบอร์ดบริหารย่อมไม่เหมือนกัน แต่โปรเจ็คต์ของ ลิม ก็คือต้องการเทขายนักเตะค่าเหนื่อยแพงๆ ออกไปจากทีมเพื่อพยุงฐานะทางการเงินของสโมสรให้อยู่รอด โดยไม่สนว่านักเตะที่ถูกปล่อยออกไปนั้น มีความสำคัญต่อทีมมากแค่ไหน หากทะลุเพดานเงินก็หั่นทิ้งทันที
ฤดูกาล 2019-2020 ที่เพิ่งรูดม่าน บาเลนเซีย จบอันดับที่ 19 วืดโควตาฟุตบอลยุโรป ทำให้สถานการณ์ของทีมต้องเป็นเช่นนี้ เพราะ ลิม จำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้บัญชีธนาคารรายรับรายจ่ายจากนี้จึงต้องสร้างทีมด้วยงบประมาณที่ถูกหั่น ถ้านักเตะขายออกไปแล้วไม่พอก็ดันจากชุดเยาวชนขึ้นมา ดีไม่ดีการเสี่ยงครั้งนี้อาจจะค้นพบแข้งเพชรเม็ดงามก็ได้
บาเลนเซีย ไม่ใช่ทีมเดียวที่เผชิญกับวิกฤตนี้ แต่อาจจะเรียกได้ว่าแทบทุกทีมทั่วโลกที่เจอกับไวรัสโควิด-19 เล่นงาน ดังนั้นก็ต้องฝ่าทางตันก้มหน้ายอมรับเสียงด่าจากแฟนบอลที่ไปรวมตัวประท้วงแสดงพลังกันหน้าสนาม เมสตาย่า นับพันคน เพราะหลายคนก็ไม่เชื่อในแผนนี้ว่าจะยั่งยืน สุดท้ายถ้าพลาดท่าตกชั้นมาจะเสียหายหลายแสน
ในมุมของพิษเศรษฐกิจก็เข้าใจ ลิม ที่ต้องประคองทีมให้อยู่รอด หลายทีมทั่วโลกก็คงคิดเช่นนั้น ซึ่งการกระทำของ บาเลนเซีย ครั้งนี้เหมือนกับ “ทิ้งของมีค่าลงน้ำเพื่อไม่ให้เรือจม” แต่จากนี้แฟนบอลก็ต้องมาลุ้นและเอาใจช่วยกันว่าโปรเจกต์ “low cost” จะพาทีมอยู่รอดได้หรือไม่