xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย เติมไม่เติม ถึงอย่างไรก็ต้องเจ็บ

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


หลายคนในเวลานี้คงเกิดนึกถึงเพลง เติมไม่เต็ม ของกบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี เมื่อการบินไทยมาขอให้รัฐบาลอุ้มการบินไทย แว่วเสียงเพลง “ฉันก็อยากเติมใจทั้งใจ แต่เติมอย่างไงไม่เต็มหัวใจเธอ เหตุใด เติมใจเธอไม่เคยเต็ม เติมใจเธอไม่เคยพอ” เราคนไทยร่วมด้วยช่วยกันต้านภัยโควิด-19 มากันอย่างยากลำบากจนหลายคนที่เจอวิกฤติโควิด-19 ก็กระเป๋าแฟบลำบากกันมากอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องมาร่วมด้วยช่วยจ่ายภาษีเติมเงินให้เจ้าจำปีสีม่วง คนจำนวนมากก็คัดค้านกันหรือไม่ค่อยเต็มใจจะเติมเงินให้การบินไทยเท่าไหร่นัก

ทำไม คนจำนวนมากในสังคมไทย รู้สึกไม่เต็มใจที่จะเติมเงินให้การบินไทย ไม่อยากให้รัฐบาลเติมเงินให้การบินไทย คำตอบก็คือนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การบินไทยมีปัญหา เติมเงินให้การบินไทย รักคุณเท่าฟ้ามาหลายครั้ง ทุกครั้งคือเงินภาษีของประชาชน แต่เติมเข้าไปเท่าไหร่ ก็เหมือนเทน้ำลงทะเลทรายหายไปหมด ไม่มีอะไรกลับมาให้ชุ่มชื่นหัวใจเลย รัฐบาลเองก็กลัวว่าเติมเงินไปอีกห้าหมื่นล้าน จะไม่ได้อะไรกลับมาเลย และแนวโน้มก็จะเป็นเช่นนั้น เพราะการบินไทยวันนี้คือหญิงแก่ที่ถูกชายหนุ่มรุมโทรมข่มขืนจนหมดสภาพ ไม่มีใคร (โดยเฉพาะนักการเมือง และแม้แต่คนที่ผลัดกันมาเป็นผู้บริหารหรือบอร์ดการบินไทยเองส่วนใหญ่) รักการบินไทย แม่เอื้องหลวงมากนัก ทุกคนมาต่างฉกฉวยผลประโยชน์จากการบินไทย ค่าตอบแทนในตำแหน่งบริหารสูงลิ่ว โดยไม่ต้องทำงานก็อยู่ได้ มากันแบบมีเส้นสายลูกท่านหลานเธอเดินกันให้ว่อนการบินไทยแม้จนกระทั่งวันนี้ และหนี้ที่การบินไทยมีก็ท่วมทับการบินไทย

ปีก่อนการบินไทยขาดทุนหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท ปีนี้น่าจะขาดทุนหกหมื่นล้านบาทขึ้นไปจากวิกฤติโควิด-19 แล้วยังมีมูลหนี้อีกเกือบสามแสนล้านบาท ที่จะมาให้รัฐบาลค้ำประกันหนี้ให้ห้าหมื่นล้านก็คงเห็นอยู่ว่าเติมอย่างไรก็ไม่เต็มอย่างแน่นอน ไม่มีทางเลย แค่เอาให้รอดปีนี้จากการขาดสภาพคล่องแล้วจ่ายหนี้ไม่ได้จนมีคนมาฟ้องกันเยอะแยะ รัฐบาลก็คงเห็นแล้วว่า การบินไทย เติมอย่างไรก็คงไม่เต็ม เติมเข้าไปเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นหยดน้ำให้ชุ่มชื่นหัวใจได้ ทางเลือกของรัฐบาลก็คือต้องเลิกอุ้ม แล้วให้นำการบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังต้องถือหุ้นการบินไทยน้อยกว่าร้อยละ 50 ต้องขาดทุน ตัดเนื้อร้ายทิ้ง cut loss แล้วเริ่มต้นใหม่ ต้องผ่าตัดใหญ่

การบินไทย เติมไม่เต็ม ต้องผ่าตัดใหญ่ ต้องเจ็บตัว เพื่ออยู่รอดต่อไปในอนาคต สายการบินแห่งชาติไม่จำเป็นต้องมี จะรักคุณเท่าฟ้ามากแค่ไหน แต่ต้องรักประเทศไทยมากกว่า ต้องทำให้การบินไทยกลับมาสง่างามให้ได้อีกครั้ง รัฐวิสาหกิจนั้น nobody owns, nobody cares. ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสนใจ เลยมีแต่คนมาข่มขืนรุมโทรมแม่เอื้องหลวงจนบอบช้ำ อดีตที่แล้วก็แล้วไป

การบินไทยยังมีจุดแข็งหลายอย่างดังนี้

หนึ่ง การบินไทยมีเส้นทางการบินและตารางเวลาบินที่ดีเยี่ยมมาก ทั้งในทวีปยุโรป และในประเทศญี่ปุ่น ได้สนามบินดีๆ ในเวลาดีที่สุดแทบทั้งนั้น เรื่องนี้ต้องยกความดีให้ผู้บริหารการบินไทยในอดีตและอดีตเอกอัคร ราชทูตไทยในทวีปยุโรปและในญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ไปเจรจาต่อรองจนได้เวลาและเส้นทางที่ต้องถือว่าดีมาก และทำให้เป็นข้อได้เปรียบและเป็นอุปสรรคสำหรับการแข่งขันของสายการบินอื่นๆ

สอง ประเทศไทยมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการเป็น hub ด้านการบิน เราเป็นประเทศที่ได้เปรียบในเรื่องนี้มากและการบินไทยก็ได้อาศัยความได้เปรียบในเรื่องนี้ด้วย

สาม พนักงานของการบินไทย มี branding และชื่อเสียงในด้านการมีจิตใจให้บริหาร มีความละมุนละไมในการให้บริการที่ดีเมื่อเทียบกับพนักงานบริการบนสายการบินอื่นๆ แม้ว่าจะมีลูกท่านหลานเธอที่ขาดจิตใจให้บริการอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

(โปรดอ่านได้จาก รักคุณเท่าฟ้า แต่รักประเทศไทยมากกว่า โปรดอย่าขาดทุนอีกต่อไปเลย https://mgronline.com/daily/detail/9620000113061)

ศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ อดีตอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เขียนไว้ว่า

Professor Vicha Mahakun

ในฐานะของผู้บรรยายวิชากฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ ในสถาบันการศึกษา ทำให้อดไม่ได้ที่จะขอให้ข้อมูลทางกฎหมายที่ถูกต้องเกี่ยวกับข่าวที่ว่า ทางรัฐบาลจะปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย และให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

จึงขอแจ้งให้ทุกท่านที่ไม่ใช่นักกฎหมายทราบว่า การล้มละลาย หมายถึงการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนำไปสู่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และคำพิพากษาให้ล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง ผลก็คือการเก็บรวบรวม การจำหน่าย และการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน กระบวนการดังกล่าวจะไม่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

ส่วนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องเริ่มต้นจากการร้องขอฟื้นฟูกิจการ แม้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายล้มละลาย ก็หาเรียกว่าเป็นกระบวนการล้มละลายไม่ แต่เรียกว่าเป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือว่าเป็นทางเลือกอื่นนอกจากการล้มละลาย โดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีหนี้สินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ และศาลยังมิได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือสั่งให้เลิกนิติบุคคล ทั้งนี้เพียงแค่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา ก็จะเกิดสภาวะพักชำระหนี้ (automatic stay) ในทันที กล่าวคือเจ้าหนี้จะฟ้องร้องหรือบังคับคดีไม่ได้ ฯลฯ และถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ผู้ร้องเสนอมา ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับ บริษัทมหาชนจำกัด อย่างการบินไทย เพราะถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องอ้างถึงศักยภาพขององค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียง เคยได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ มีทรัพย์สินทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตนมีมูลค่ามหาศาล มีกระทรวงการคลังถือหุ้นรายใหญ่ จึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ หากปล่อยให้ล้มละลายย่อมกระทบถึงชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม ตลอดจนกระทบต่อพนักงานและครอบครัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย การจัดทำแผน ต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาสามเดือน โดยขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้งครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน ในแผนจะมีทั้งข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ต้องลดหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งการยืดเวลาชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างกิจการ ที่สุดต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง แล้วจึงบริหารแผนต่อไปโดยผู้บริหารแผนตามระยะเวลากำหนดไว้ในแผนไม่เกินห้าปี นี่เป็นบทสรุปย่อๆ ส่วนรายละเอียดมีความซับซ้อนกว่านี้มากนัก โดยเฉพาะการหาตัวผู้ทำแผน และผู้บริหารแผน ซึ่งต้องมีความรู้ ความชำนาญ ความซื่อสัตย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะแม้ลูกหนี้อาจเสนอตัวเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผน ก็อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะทางฝ่ายเจ้าหนี้

การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ หากต้องดับสูญสิ้นชื่อไป เพราะมีหนี้สินหลายหมื่นล้านบาท อันเกิดจากการล้มเหลวในการบรืหารจัดการ และบางส่วนก็มาจากการแสวงหาประโยชน์และการทุจริตของบุคคลทั้งภายในและนอกองค์กร เป็นที่น่าเสียใจ เสียดาย และเศร้าสลดใจ หวังว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่สง่างาม นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศ และประชาชนอีกครั้งหนึ่ง


ผมเห็นด้วยว่าต้องมีการฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้เข้มแข็ง การขอเข้าแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลายทำให้การบินไทยสามารถเข้ารับการผ่าตัดใหญ่และทำให้การบินไทยเข้มแข็งได้

ข้อแรก การบินไทย จะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป จะมีเจ้าหนี้เข้ามามีส่วนในแผนฟื้นฟูและหาทางหลายๆ อย่างที่จะทำให้บริหารการบินไทยได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ข้อสอง การเป็นเอกชนของการบินไทย จะทำให้การเมืองแทรกแซงได้น้อยลง นักการเมืองจะไม่อาจมารุมโทรมการบินไทยได้ง่ายๆ เหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการฝากลูกหลานเข้ามาทำงานเป็นผู้บริหาร การจัดซื้อเครื่องบินแบบไร้สิ้นสติปัญญาทำให้การบินไทยขาดทุนย่อยยับและมีเสียงเล่าลือเล่าอ้างเรื่องการทุจริต มีค่าคอมมิชชั่นในการซื้อของซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งกระฉ่อนหนาหู ผมเคยได้ยินกระทั่งว่าสมัยหนึ่งเงินค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อเครื่องบินการบินไทย เอามาเป็นเงินจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วด้วยซ้ำ!!!! จริงเท็จผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้นก็ตายไปแล้วหลายคน (ตามอายุขัย)

ข้อสาม การบินไทย ที่เป็นบริษัทเอกชน จะไล่ผู้บริหารที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ทำงานออกไปได้ เพราะไม่ติดความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เอาคนออกได้เลย จะประหยัดเงินให้การบินไทยไปได้เยอะมาก นอกจากนี้อาจจะลดขนาดองค์การ (Downsizing) ตามอุปสงค์ด้านการบินที่ลดลงทั่วโลกจากโควิด

ข้อสี่ การบินไทย ที่เป็นบริษัทเอกชน จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ไม่ใช่ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สหภาพการบินไทยที่เคยเข้มแข็งในการปกป้องสิทธิ์พนักงาน สวัสดิการต่าง ๆ ตลอดจนต่อต้านการ lay off ก็จะหมดสภาพไป ที่จริงก็น่าเห็นใจคนทำงาน ที่ทำงานกับการบินไทยด้วยความตั้งใจเสียสละ เป็นมดงานที่ทำงานบริการอย่างดีจนการบินไทยได้รับการยกย่องในแง่การบริการที่ดี แต่การบินไทยไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะต้อง lay off พนักงานการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือ นักบิน ออกไป เช่นเดียวกันกับสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ด้วยความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

ข้อห้า ถึงเวลาสังคายนาการซื้อเครื่องบิน และการขายเครื่องบินเน่าที่บินอย่างไรก็ขาดทุนของการบินไทยออกไปเสียที เดิมฝ่ายช่างของการบินไทย หลังจากได้รับการเทรนจากสายการบิน SAS มีความเก่งกาจมากในเรื่องการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวที่ใช้เครื่องของ GE ทั้งหมด เก่งจนไปรับซ่อมเครื่องบินให้สายการบินอื่นๆ ได้ไม่รู้กี่สายการบิน แต่พอมีการเมืองมาแทรกแซง มีการซื้อเครื่องบินหลายรุ่น ใช้เครื่องยนต์สารพัดยี่ห้อ ก็ต้องมีอะไหล่สำรองสารพัดยี่ห้อ สิ้นเปลืองมาก ซ่อมเองก็ไม่ได้ ต้องไปส่งซ่อมที่ต่างประเทศ แพงมาก และบางรุ่นเอามาทำตลาดผิด ทำให้แค่สตาร์ทเครื่องบินข้ามโลกก็ขาดทุนอ่วมในทันที (โปรดอ่านรายละเอียดได้จากกัปตันโยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารการบินไทย ที่เขียนเล่าเรื่องนี้อย่างละเอียด) และแน่นอน ต้อง plan, buy, fly และต้องโปร่งใส ไม่มีคอร์รัปชั่นด้วย

ข้อหก เรื่องการทำการตลาด ตารางการบิน เส้นทางการบิน และการขายตั๋ว ต้องรื้อใหม่หมด ต้องใช้ data analytics และตัวแบบต่างๆ มาช่วย ต้องใช้ IT มาช่วย ต้องขายตั๋วเองผ่านอินเตอร์เน็ต ให้ได้มากที่สุด ผ่านเอเยนต์ให้น้อยที่สุด จะได้กำไรเอง ส่วนเรื่องการยกเส้นทางให้สายการบินโน้น สายการบินนี้ตามแรงกดดันทางการเมือง ก็คงต้องทำให้หมดไป โดยเฉพาะเส้นทางที่ทำกำไร

รองศาสตราจารย์หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้กรุณาชี้แนะชี้ทางกลยุทธ์ของการบินไทยไว้อย่างน่าสนใจมากว่า

แล้วอะไรที่ทำให้การบินไทยขาดทุน หากมองข้ามการหาผลประโยชน์ของนักการเมืองในอดีตที่ทำให้การบินไทยต้องสูญเสียเงินไปมากมาย และมองไปข้างหน้า ก็ต้องบอกว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์(strategy)ที่ผิดพลาดและ operations ของการบินไทยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุน

ในเชิงยุทธศาสตร์ การเลือกที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาด low cost ที่การบินไทยไม่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถือหุ้นในนกแอร์ และการจัดตั้ง Thai Smile ล้วนเป็นการเลือกยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ศัพท์วิชาการเรียกว่า straddle หรือการเหยียบเรือสองแคม คือการทำ 2 อย่างพร้อมๆกันในขณะที่กิจกรรมของทั้ง 2 แตกต่างและขัดแย้งกัน

ในเชิง operations การบินไทยไม่สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างความแตกต่าง(differentiation) จากคู่แข่งขัน พอที่จะทำให้ตั้งราคาที่สูงกว่าได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์ low cost ได้เช่นกัน กล่าวคือมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปที่จะตั้งราคาต่ำระดับสายการบิน low cost ได้

ในขณะที่คู่แข่งขัน เช่น Qatar Airways Emirates Airlines ในยุคที่การบินไทยเฟื่องฟูยังไม่เกิด แต่ปัจจุบันสายการบินเหล่านี้แข่งขันกับการบินไทยด้วยเครื่องบินที่ใหม่กว่า สบายกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องที่เหนือกว่า ในราคาที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก ลูกค้าการบินไทยจึงหันไปใช้บริการของสายการบินเหล่านี้แทนที่จะใช้การบินไทย

ดังนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ การบินไทยต้องเลือกระหว่าง ยุทธศาสตร์ low cost หรือยุทธศาสตร์ differentiation ไม่สามารถเป็นสายการบินทั้ง 2 แบบในเวลาเดียวกัน

ยุทธศาสตร์ที่การบินไทยควรเลือกคือ การสร้างความแตกต่างให้ได้ด้วยบริการบนเครื่องที่เหนือกว่า ซึ่งการบินไทยทำดีอยู่แล้ว ด้วยเครื่องบินที่ใหม่เท่าๆกัน และด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องที่เหนือกว่า แต่ตั้งราคาที่เท่ากันหรือต่ำกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือ “ สร้างความแตกต่าง แต่ตั้งราคาต่ำในเวลาเดียวกัน” ซึ่งเป็นหลักการของ “ Blue Ocean Strategy”นั่นเอง

เงื่อนไขสำคัญที่จะทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่การลด cost แต่ต้องเป็นการลดความสูญเปล่าหรือ waste ให้ได้ การบินไทยไม่ควรตัดค่าใช้จ่ายโดยการลดคุณภาพที่ผู้โดยสารควรได้รับ แต่ต้องลดสิ่งที่สูญเปล่า ซึ่งหากศึกษาให้ดีจะพบว่ามีความสูญเปล่าที่หากลดลงได้จะไม่กระทบกับคุณภาพเลยอย่างมากมาย ความสูญเปล่าดังว่าย่อม รวมถึงคนที่เป็นส่วนเกิน (excess) ด้วย


ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอแนะที่น่ารับฟังและน่าสนใจยิ่งสำหรับ การบินไทย เติมไม่เติม ถึงอย่างไรก็ต้องเจ็บ


กำลังโหลดความคิดเห็น