xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” จ่อชง 15 ชื่อตั้งทีมลุยฟื้น “บินไทย” ให้นายกฯ ยึดโมเดล JAL นัดสหภาพถกค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เตรียมชงรายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูการบินไทยขั้นต่ำ 15 คน ให้นายกฯ เคาะสัปดาห์หน้า พร้อมเผย 10 ขั้นตอน คลังลดหุ้นเหลือต่ำกว่า 50% หลุดสภารัฐวิสาหกิจ บอร์ดพันหน้าที่ ยึดโมเดล “เจแปนแอร์ไลน์ส” เตรียมนัดสหภาพฯ เจรจาค่าใช้จ่ายและเงินเดือนช่วงวิกฤต ด้าน “ถาวร” ยอมรับการบินไทยพ้นสังกัดคมนาคม แต่เป็นหนทางช่วยให้พนักงานมีงานทำต่อ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ค.เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันที และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่าการแก้ปัญหาบริษัท การบินไทย โดยฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งจากสถานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย จำนวน 147,352 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศ 35% และหนี้เงินกู้จากการซื้อเครื่องบิน ประมาณ 15% โดยคาดว่าปี 2563 ยอดหนี้สินจะเพิ่มเป็น 219,198 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ฐานะการเงินอยู่ในขั้นวิกฤติ มีสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว กระแสเงินสดหมดในเดือน มิ.ย. จึงต้องเร่งแก้ปัญหา

ส่วนแนวทางที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องนั้น ให้รัฐต้องสูญเงิน 5.4 หมื่นล้าน เนื่องจากแผนฟื้นฟู Action Plan ของการบินไทยมีความเสี่ยงถึง 23 เรื่อง และไม่สามารถปฏิบัติได้ ส่วนแนวทางที่ปล่อยให้การบินไทยล้มละลายจะทำให้การบินไทยต้องยุติการดำเนินงานทันที และถูกพิทักษ์ทรัพย์สิน ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ พนักงานจะตกงาน ถูกลอยแพ และเกิดผลกระทบไปถึงผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงกระบวนการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายว่า จะมี 10 ขั้นตอน โดยเริ่มจาก 1. เสนอ ครม.อนุมัติ และคลังลดการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย 2. การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้จัดทำแผน โดยตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ 3.ยื่นศาล และเมื่อศาลรับคำร้อง การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (สภาวะพักชำระหนี้) ทำให้สามารถหยุดจำนวนหนี้และดอกเบี้ยได้ 4. เจรจาเจ้าหนี้ทั้งหมด 5. ประชุมเจ้าหนี้ 6. ศาลตั้งผู้จัดทำแผน ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม 7. เสนอแผนฟื้นฟู 8. ประชุมเจ้าหนี้ อนุมัติแผนฟื้นฟู 9. ศาลพิจารณาเห็นชอบแผนและตั้งผู้บริหารแผน 10. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู

โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด จะสรุปรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 15 คน เสนอต่อนายกฯ อนุมัติในสัปดาห์หน้า ขณะนี้ได้ทาบทามบุคคลที่สามารถทำงานได้จริง ปราศจากการแทรกแซง และต้องหาที่ปรึกษาทางการเงิน ทางกฎหมายมาช่วย คาดว่าจะยื่นศาลได้ในเดือน มิ.ย. ส่วนการดำเนินทั้ง 10 ขั้นตอนครบคงใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี เพราะนำปัจจัยเรื่องผลกระทบโตวิด-19 เข้ามาประกอบด้วย

แนวทางการยื่นศาลเพื่อฟื้นฟูนั้น กระทรวงคมนาคมได้ดูต้นแบบจากสายการบินที่เคยมีปัญหาและยื่นฟื้นฟู คือ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส (JAL) ยื่นฟื้นฟูศาลล้มละลายปี 2553 สามารถออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 14 เดือน โดยมีกำไรอย่างต่อเนื่องปีละ 2 พันล้านเหรียญ หรือสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส ยื่นศาลและใช้เวลา 3 ปี สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ สำหรับการบินไทยนั้นมีหน่วยธุรกิจ 6 หน่วยที่สามารถหารายได้และมีผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพ แต่จะต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์

“การบินไทยถึงเวลาที่ต้องเอกซเรย์ว่าทำอะไรที่ไม่ถูกต้องและทำให้มีต้นทุนสูง กระทรวงจะเข้าไปดู และแยกเรื่องออกจากแผนฟื้นฟู เพราะเมื่อปี 58 นายกฯ เคยพิจารณาช่วยการบินไทยมาแล้ว หากการบินไทยทำตามแผนนั้น เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องหันมาช่วยกัน ไม่ได้ต้องการทำลาย แต่ต้องการให้การบินไทยฟื้นฟู ไม่อยากให้ตื่นตระหนก และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การบินไทยมีปัญหาสภาพคล่อง และจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเดือนพนักงานช่วงระหว่างยื่นฟื้นฟูหรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนและปลัดคมนาคมจะหารือกับสหภาพการบินไทย เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ให้กระทบพนักงาน 2 หมื่นกว่าคน โดยดูสถานการณ์การเงินจริงๆ ว่ามีเท่าไหร่ และจัดจัดสรรกันได้อย่างไร แต่คงอาจจะไม่เท่าเดิม โดยเน้นให้การบินไทยพึ่งตัวเองก่อน ขณะที่ผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูจะดูแนวทางที่จะเสริมสภาพคล่อง

สำหรับคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยนั้น ขณะนี้ยังถือว่าคงอยู่ จนกว่ากระทรวงการคลังจะลดหุ้นต่ำกว่า 50% โดยหุ้นที่ลดลงไปนั้นจะไปอยู่ที่องค์กรหรือนิติบุคคลที่ไม่เป็นของรัฐ การบินไทยจะหลุดจากรัฐวิสาหกิจ จากนั้นจะมีการพิจารณาตั้งบอร์ดและคณะผู้บริหารใหม่ ส่วนการบินไทยจะยังคงเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคม หรือไม่นั้น ทาง ครม.ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลต่อ และคลังยังถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่

“ถาวร” ชี้การบินไทยหลุดสังกัดคมนาคม ทำเพื่อพนักงานไม่ตกงาน แต่กังวลคนทำแผนฟื้นฟู

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลังโอนขายหุ้นเสร็จ โดยจะถือหุ้นเหลือไม่ถึง 50% สถานภาพการบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตนทราบดีว่าการบินไทยจะขาดจากการอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ตนจะไม่ต้องกำกับอีดูแลอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ตนตั้งใจทำแนวทางฟื้นฟูนี้ เพื่อการแก้ปัญหาการบินไทยให้อยู่รอดได้ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ พนักงานจะไม่ตกงาน มีอาชีพต่อ เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เครดิตประเทศยังคงมีด้านคมนาคมทางอากาศ อุตสาหกรรมการบิน แต่กังวลเรื่องคนที่จะมาทำการฟื้นฟูซึ่งอยู่ที่นายกฯ จะตัดสินใจ

“มนัญญา” ยื่นศาลฟื้นฟูการบินไทย ไม่กระทบสถานะ 82 สหกรณ์

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข้อกังวลเรื่องสหกรณ์จะเกิดหนี้จะสูญนั้น เรื่องนี้ได้มีแผนรองรับไว้แล้ว โดยจะเชิญ 82 สหกรณ์มาพบเพื่อตอบข้อสงสัยให้เกิดความมั่นใจว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ ครม.อนุมัติเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และจะไม่กระทบต่อสถานะของสหกรณ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ มีแผนดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นก็ของการบินไทย จำนวน 82 สหกรณ์ วงเงินรวม 42,229.14 ล้านบาท ขณะที่สหกรณ์มีสินทรัพย์รวม 1.17 ล้านล้านบาท ดังนั้น หุ้นกู้ที่จะมีผลกระทบคิดเป็น 3.62% เท่านั้น ซึ่งในภาพรวมสหกรณ์ส่วนใหญ่มีฐานะดี โดยหนี้ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น จะทยอบครบกำหนดชำระตั้งแต่ปี 63-77 โดยในปี 63 จะครบชำระ ช่วง ส.ค.-ก.ย. ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 21 สหกรณ์ ซึ่งกรณีที่ศาลรับฟื้นฟูตามมติ ครม. หนี้ทั้งหมดจะเข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูซึ่งจะมีการจัดการชำระหนี้ใหม่ ถือว่ายังไม่เป็นหนี้สูญ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด สมาชิกมีการถอนเงินลดลง แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น