ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมเคยมีความภาคภูมิใจในสายการบินแห่งชาติ แม่จำปีสีม่วง การบินไทย ที่บริการดี และก็มีเพื่อน ญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ ทำงานในการบินไทยมากมาย ผมมองการบินไทยด้วยความรักและห่วงใยยิ่ง ในฐานะลูกค้าและในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
ผมไม่สบายใจเลยที่การบินไทยขาดทุนหนักติดต่อกันมาหลายปี และปีนี้สามไตรมาสก็ขาดทุนไปแล้วเกือบเก้าพันล้านบาท เฉพาะไตรมาสสามขาดทุนไปสี่พันหกร้อยล้านบาทโดยประมาณ และถ้าสถานการณ์ในสามเดือนหลังของปีนี้ยังเป็นเช่นนี้อยู่การบินไทยน่าจะขาดทุนไปรวมทั้งปีเกือบหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!
การบินไทย ผมรักคุณเท่าฟ้า แต่ผมรักประเทศไทยมากกว่า และโปรดอย่าขาดทุนแบบนี้อีกต่อไปเลย ประเทศไทยบอบช้ำมาก ผมยังเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการมีสายการบินแห่งชาติ แต่หลายสิ่งหลายอย่างผมยังรู้สึกว่าผู้บริหารและพนักงานการบินไทยยังไม่ได้พยายามเต็มที่นักในการแก้ปัญหาการบินไทยขาดทุนบักโกรกขนาดนี้ติดต่อกันมาหลายปี และหากยังขาดทุนอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ผมคิดว่าก็ควรขายสมบัติของชาติชิ้นนี้ออกไป เพราะสมบัติของชาติชิ้นนี้ได้กลายเป็นภาระทางการคลังอันยิ่งใหญ่ของชาติไปเสียแล้ว เพราะต้องไปกู้หนี้ยืมสินและใช้ภาษีของประชาชนมาจ่ายชดเชยการขาดทุน เมื่อขาดทุนย่อยยับย่อมไม่ใช่สมบัติของชาติ แต่เป็นภาระของชาติ ดังนั้นการบินไทยต้องหยุดขาดทุนให้ได้โดยเร็วที่สุดเพื่อที่ประชาชนคนไทยจะได้รักคุณเท่าฟ้าได้อีกต่อไป
ธุรกิจการบินทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงมาก (hypercompetitive) ลองดูไปที่สายการบินอื่นๆ บ้าง ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มถดถอย คนเดินทางน้อยลง แม้ว่าราคาน้ำมันจะไม่สูงนักก็ยังขาดทุนกันถ้วนหน้า แอร์เอเชียก็ขาดทุน หลายสายการบินขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่ทว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์กลับทำกำไรมหาศาล การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่ดุเดือดมากเกิดสายการบินต้นทุนต่ำมากมาย และราคาค่าโดยสารก็ถูกมาก เพราะแข่งขันกัน การเปิดน่านฟ้าเสรีของไทยมีส่วนช่วยให้คนไทยได้ขึ้นเครื่องบินในราคาที่ถูกลงไปมาก มากจนเจ๊เกียวหรือนางสุจินดา เชิดชัย เจ้าของเชิดชัยทัวร์มองว่าคู่แข่งหลักของรถทัวร์ของเธอคือ low cost airline
แต่มีพนักงานการบินไทยหลายคนแย้งผมว่าไม่มีชาติไหนเปิดเสรีน่านฟ้าของตัวเอง เรื่องนี้ทำให้การบินไทยสู้ใครไม่ได้ ผมกลับมองว่าถ้าจะปกป้องการบินไทยให้เป็นอุตสาหกรรมไข่ในหิน ไม่เปิดให้ใครเข้ามาแข่งขันเลยนั้นไม่เป็นเรื่องดี เพราะอุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลายเป็นอุตสาหกรรมทารก (Infant industry) และประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด เดี๋ยวนี้ค่าตั๋วเครื่องบินโลว์คอสต์ราคาบางครั้งถูกว่ารถไฟตู้นอนหรือรถทัวร์ VIP เสียอีก และคนไทยก็บินกันง่ายมากขึ้น ไม่ต้องใส่สูทไปคล้องมาลัยก่อนไปเมืองนอกที่สนามบินดอนเมืองเหมือนเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ประชาชนได้ประโยชน์ ใครที่ไม่เก่งจริง ไม่ใช่ของจริงก็ต้องออกไป ตราบใดที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เรื่องนี้ก็แบบเดียวกันกับการขอโทรศัพท์ในยุคที่มีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผูกขาดอยู่เพียงผู้เดียวนั้นการขอโทรศัพท์เข้าบ้านสักเครื่องแสนจะยากเย็นและยาวนาน เดี๋ยวนี้ง่ายกว่ากันมากเหลือเกิน
การที่มีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดสูงมาก มาพร้อมทุนหนามหาศาล และนำการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเข้ามามากมาย เช่น การใช้การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer relationship management) จากการวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ การจองเกิน (Overbooking) เพื่อแก้ปัญหาการไม่มาสนามบิน (No show) เพื่อให้ Cabin load factor มีค่าสูงสุด และทำกำไรได้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม การตั้งราคาพลวัต (Dynamic pricing) เพื่อทำให้เกิดรายได้สูงสุด (Revenue optimization) แม้กระทั่งการจัดการตารางบินและการบริหารและวางแผนเส้นทางก็อาศัยความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลแทบทั้งนั้น
ในการแข่งขันสูงมากของอุตสาหกรรมการบินที่การบินไทยพ่ายแพ้ยับเยินนั้น การบินไทยยังคงมีข้อได้เปรียบอยู่สามประการ
หนึ่ง การบินไทยมีเส้นทางการบินและตารางเวลาบินที่ดีเยี่ยมมาก ทั้งในทวีปยุโรป และในประเทศญี่ปุ่น ได้สนามบินดีๆ ในเวลาดีที่สุดแทบทั้งนั้น เรื่องนี้ต้องยกความดีให้ผู้บริหารการบินไทยในอดีตและอดีตเอกอัครราชทูตไทยในทวีปยุโรปและในญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ไปเจรจาต่อรองจนได้เวลาและเส้นทางที่ต้องถือว่าดีมาก และทำให้เป็นข้อได้เปรียบและเป็นอุปสรรคสำหรับการแข่งขันของสายการบินอื่นๆ
สอง ประเทศไทยมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการเป็น hub ด้านการบิน เราเป็นประเทศที่ได้เปรียบในเรื่องนี้มากและการบินไทยก็ได้อาศัยความได้เปรียบในเรื่องนี้ด้วย
สาม พนักงานของการบินไทย มี branding และชื่อเสียงในด้านการมีจิตใจให้บริหาร มีความละมุนละไมในการให้บริการที่ดีเมื่อเทียบกับพนักงานบริการบนสายการบินอื่นๆ แม้ว่าจะมีลูกท่านหลานเธอที่ขาดจิตใจให้บริการอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตามการบินไทยก็มีจุดอ่อนมากมายที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง ยกตัวอย่างเช่น
หนึ่ง การบินไทยไม่มีใครรักมากนัก นักการเมือง ผู้บริหาร ไม่ค่อยรักการบินไทย หลายครั้งการจัดซื้อต่างๆ มีปัญหา และเป็นไปตามทฤษฎีของรัฐวิสาหกิจว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครแคร์ (Nobody owns, nobody cares.) ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การบินไทยราวกับหญิงสาวถูกรุมโทรม ผู้บริหารหลายครั้งก็มาจากการวิ่งเต้นเส้นสาย ลูกท่านหลานเธอ ไปลองดูนามสกุลก็พอจะรู้ และมีผู้บริหารมากมายที่อาจจะไม่มีงานทำ แต่ได้เงินเดือนและค่าตอบแทนมากมายอยู่พอสมควร เพราะยังมีแนวคิดแบบรัฐวิสาหกิจซึ่งเกือบจะเป็นราชการคือความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ไล่ออกไม่ได้ ก็อยู่กินเงินเดือนกันสูงๆ ต่อไป ไม่ต้องทำงาน ใครที่เคยเข้าไปในการบินไทยสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต หากได้เดินไปตามชั้นต่างๆ ก็พอจะสัมผัสบรรยากาศบางอย่างได้
สอง การซื้อเครื่องบินของการบินไทย มีปัญหา คือ
2.1 จัดซื้อเครื่องบินหลายรุ่นเหลือเกิน จนทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลและการบำรุงรักษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานสำหรับเครื่องบินแต่ละรุ่นทั้งนักบินและ steward หรือ air hostess สูงมาก และมีความไม่คล่องตัวในการจัดตารางการบินด้วย เพราะมีเครื่องหลายรุ่นมากไป สำรองอะไหล่ก็ต้องเยอะมาก
2.2 การจัดซื้อของการบินไทย ขาดการวางแผนที่ดี ไม่เป็นไปตามหลัก plan, buy, fly มีเครื่องที่ซื้อมาแล้วบินแล้วขาดทุนมหาศาล แล้วเอาไปจอดทิ้งไว้เฉยๆ ที่สนามบินอู่ตะเภา ได้ยินมาว่า 4 เครื่อง เคยบินกรุงเทพ-นิวยอร์กแล้วขาดทุน เป็นเส้นทาง north pole route แต่จัดผังที่นั่งบนเครื่องเป็นชั้น economy มากเกินไป ไม่คุ้มค่าในการลงทุนตั้งแต่ต้น ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคาสูงมากต่อเนื่องมายาวนาน และเมื่อขายต่อก็ได้ค่าซากไม่มากนัก ทำให้ขาดทุนย่อยยับ
อันที่จริงการจัดซื้อเครื่องบินแต่ละครั้ง ควรเป็นรุ่นเดียวกันหรือให้มีน้อยรุ่นให้มากที่สุด และต้องวางแผนการตลาดให้ดีเสียก่อน ว่าจะบินบนเส้นทางไหน มีความต้องการบินแค่ไหน บินแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ ต้องมีการพยากรณ์ความต้องการทางการตลาด วางแผนเส้นทางการบิน วิเคราะห์ตารางบินและจำนวนเครื่องบินและพนักงานหรือนักบินว่าสอดคล้องพอเพียงหรือไม่ ให้รอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อและบินตามเส้นทางที่วางไว้ ดังนั้นการตลาดต้องมาก่อนเสมอ ดังนั้นสิ่งที่นายถาวร เสนเนียม แนะนำให้การบินไทยไปทบทวนแผนการจัดซื้อเครื่องบินก็มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลมากพอสมควรและป้องกันไม่ให้การบินไทยก้าวพลาดดังเช่นเคยผิดพลาดมาแล้วในอดีต
สาม การบินไทยมีปัญหาด้านการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร สายการบินต่างๆ ทุกสายการบินรวมทั้งสายการบินอื่นในประเทศไทยด้วย จำหน่ายตั๋วโดยสารเองผ่านระบบอินเตอร์เน็ตราวร้อยละ 80 และจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายเพียงร้อยละ 20 ตัวเลขนี้กลับกันสำหรับการบินไทย โลกกลับด้านเกิดการระเบิดดิจิทัล (Digital disruption) ทำให้คนกลางลดบทบาทในอุตสาหกรรมการบินลงไปเรื่อยๆ สายการบินขายตั๋วเองได้ โดยไม่ต้องมีคนกลางแต่อย่างใด และไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น ทำกำไรได้มากกว่ามหาศาล ทั้งยังจัดการการตลาด มีลูกเล่นทางการตลาดได้ดีและได้สะดวกมากกว่าด้วย จะทำราคาพลวัตเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดก็ทำได้ จะทำการจองเกินก็ทำได้สะดวกกว่ามาก ระบบโควต้าขายตั๋วให้ตัวแทนจำหน่าย ก็คงคล้ายกับห้าเสือกองสลากกินแบ่งรัฐบาลในสมัยก่อน ที่สุดท้ายก็ควรต้องเลิกไป ลองคิดเล่นๆ ว่าให้ค่าคอมมิชชั่นร้อยละสามของยอดจำหน่ายตั๋วมีมูลค่ากี่พันกี่หมื่นล้าน มีผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งการบินไทยทำไมต้องไปยกให้คนอื่น จะอ้างว่ามีบุญคุณกันก็ได้เงินไปเยอะมากแล้ว น่าจะทำเองได้แล้ว หรือเหตุที่ไม่ทำเพราะไร้ฝีมือ ไร้ความสามารถ อันนี้ก็เป็นข้อที่น่าคิด หรือด้วยสาเหตุอื่นจึงไม่กล้าไปแตะต้อง ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่จะลดได้ช่วยการบินไทยได้มหาศาลหากทำเองได้ และจะได้กำไรเพิ่มขึ้นมาก
สี่ ปัญหาเตี้ยอุ้มค่อม ของการบินไทย การบินไทยไปถือหุ้นใน low cost airline ที่ขาดทุนอย่างหนักเหมือนกัน แล้วก็ต้องรับภาระขาดทุนด้วย ทั้งที่ความสามารถหลักของการบินไทย ไม่ใช่การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพจนสามารถจะซื้อหรือเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ผู้นำต้นทุนต่ำ (low-cost strategy) ได้เลย ราชการและรัฐวิสาหกิจแทบจะไม่เคยซื้อของ/จัดซื้อ/จัดจ้าง ได้ราคาที่ถูกกว่าภาคเอกชน หรือหากทำได้ถูกกว่าก็ได้ของ/สินค้า/บริการที่ไม่มีคุณภาพเท่าใดนัก มีปัญหาการเบิกจ่ายเงินล่าช้าและมีขั้นตอนยุ่งยากจนภาคเอกชนก็ต้องบวกต้นทุนเหล่านี้เข้าไปไว้เรียบร้อยแล้วในราคาที่ประมูลหรือเสนอขาย การพยายามไปทำในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เก่งหรือถนัดย่อมทำให้ไม่ได้ผล ขาดทุนย่อยยับอย่างที่เห็นอยู่ คนเราควรทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองถนัดจริงๆ แล้วต่อยอดจากสิ่งที่ถนัด เช่น ถนัดบริการ เป็นสายการบินที่บริการดี ทำอาหารดี ทำ catering ดี ก็ควรไปต่อยอดในสิ่งที่ทำได้ดี ไม่ใช่ low cost ที่ตัวเองไม่ถนัดเลย
ห้า ปัญหาหนี้ท่วมท้นเป็นดินพอกหางหมู จนการบินไทยแทบจะบินไม่ขึ้น อันที่จริงหากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น เช่น เป็นบริษัทเอกชนทั่วไป ที่มีอัตราส่วนเงินกู้/เงินกู หรือหนี้/ส่วนของเจ้าของที่เรียกกันว่า Debt per equity ratio สูงขนาดนี้ มีโอกาสที่จะขาดสภาพคล่องและมีโอกาสล้มละลายไปนานแล้ว หนี้พอกหางการบินไทยนี้เกิดจากในอดีตใครๆ ก็ไม่รักการบินไทยและเข้ามารุมโทรมแม่เอื้องหลวงกันเยอะ ประกอบกันการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล และสภาพการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการบินอันรุนแรงและรวดเร็ว ด้วยโครงสร้างสินทรัพย์ที่มีหนี้มากขนาดนี้ จะหาเงินหรือทำกำไรมาได้เท่าไหร่ก็เสียเป็นดอกเบี้ยจ่ายจนแทบจะแบกรับไม่ไหว และไม่มีโอกาสจะตั้งตัว จะเพิ่มทุนโดยการขายหุ้นเพิ่มก็คงยากมาก ไม่มีใครอยากซื้อหุ้นบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง ไม่มีอนาคตเท่าที่ควร ยังไม่เห็นว่าจะมีโอกาสโงหัวขึ้นมาบินอย่างราบรื่นได้อีกครั้ง ปัญหานี้น่าจะเป็นปัญหาหนักสุดปัญหาหนึ่ง
สายการบินแห่งชาติของประเทศอื่นๆ บนโลกนี้ ก็เคยมีสภาพไม่แตกต่างจากการบินไทย แต่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ที่ร่อแร่ขาดทุนหนักมากจวนเจียนจะล้มละลายก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เช่นกัน เรารักคุณเท่าฟ้า แต่เรารักประเทศไทยมากกว่า หวังว่าคุณจะหยุดขาดทุนได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของชาติต่อไปในอนาคต ถ้าคุณยังไม่หยุดขายทุนหนักขนาดนี้ในอนาคตอันใกล้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการขายกิจการการบินไทยให้เอกชนดูแลก็อาจจะไม่ใช่การขายสมบัติของชาติ แต่เป็นการปลดเปลื้องภาระหนี้สินและภาระทางการคลังอันหนักอึ้งของชาติออกไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เพราะพึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่เราก็หวังว่าการบินไทยจะพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้ แข่งขันได้ เช่นเดียวกันกับที่ Japan Airline เคยทำได้มาแล้ว ให้กำลังใจและความหวังเต็มที่นะครับ เรายังรักคุณเท่าฟ้านะครับ ขอให้อดทน ประหยัด ขยัน และเสียสละเพื่อตัวคุณเองและประเทศไทยของเราด้วยนะครับ รักคุณเท่าฟ้า แต่รักประเทศไทยมากกว่า สวัสดี