ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบไปทุกสาขาอาชีพ เช่นเดียวกับวงการฟุตบอลทั่วโลกที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป สร้างความเสียหายในส่วนของรายได้มูลค่ามหาศาล
จากสภาวะดังกล่าวส่งผลให้องค์กรลูกหนังทั่วโลก หรือ สมาคมฟุตบอล หลายๆ ประเทศเริ่มคิด ทบทวน วางแผนปรับโครงสร้างการบริหารองค์กร รวมทั้งรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็คือหนึ่งองค์กรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เมื่อฟุตบอลไม่สามารถทำการแข่งขันได้ตามปกติ งบประมาณจากการสนับสนุนต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลกระทบไปถึงสโมสรต่างๆ นักกีฬา ผู้ฝึกสอน บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
⚽“LOCAL HEROES” ควบรวมลีก 3-4 เฟ้นหาขุนพลลูกหนังตัวจริงระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปได้ สมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ เดินหน้าฟุตบอลไทย 8 ด้าน ( MOVING FORWARD) โดยมีนโยบายปรับโครงสร้าง ฟุตบอลลีกอาชีพ เพื่อสร้างมูลค่า และมาตรฐานที่ดี กำหนดรูปแบบการแข่งขันที่เหมาะสมต่อสโมสรสมาชิก ในระดับ ไทยลีก 3 และ ไทยลีก 4 ควบรวมลีกเข้าด้วยกัน เน้นรูปแบบการแข่งขันใหม่ ที่จะนำมาซึ่งความตื่นเต้นเร้าใจ และขยายฐานความนิยมออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาในระดับไทยลีก 2 และ 1 ตามลำดับขั้นต่อไป อีกทั้งยังเป็นการลดปัญหาค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการเดินทางอีกด้วย
⚽“THE NEW YOUTH LEAGUE” โฉมใหม่ของฟุตบอลเยาวชน ก้าวแรกสู่เส้นทางอาชีพ
นอกจากนี้ สมาคมฯ เตรียมปฏิวัติวงการฟุตบอลระดับเยาวชนของประเทศไทยทั้งระบบ ในฐานะผู้ที่ได้รับการส่งมอบสิทธิ์ในจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกเยาวชน (ยูธลีกเดิม) ทุกรุ่นอายุ ตั้งแต่ รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี, 16 ปี, 14 ปี ที่จะเป็นรากฐานให้กับนักฟุตบอลเยาวชนได้มีเวทีแข่งขันที่มีคุณภาพต่อยอดไปสู่ระดับอาชีพของสโมสรและระดับชาติต่อไป
⚽“F7” สนามแรกของช้างศึกรุ่นจิ๋ว
รวมถึงการจัดทัวนาเมนต์ฟุตบอลรุ่นเล็ก 7 คนต่อทีม ทั้งชาย-หญิง ในรุ่นอายุไม่เกิน 10 และ 12 ปี ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่า เป็นช่วงอายุที่ควรได้แข่งขันด้วยความสนุกสนาน และมีโอกาสได้สัมผัสฟุตบอลมากขึ้นเนื่องจากจำนวนผู้เล่นที่น้อยและขนาดสนามที่เล็กลงกว่าปกติ
⚽“เซมิโปรลีก U21” อุดรอยรั่ว "ช้างศึก" ที่ขาดหายไป
จากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันกับสโมสรสมาชิกตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ เล็งเห็นปัญหาของรอยต่อที่หายไปของผู้เล่นจากรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านจากเด็กในรั้วโรงเรียนมัธยม สู่รั้วมหาวิทยาลัยของวัยรุ่น เมื่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและการใช้ชีวิตที่อิสระมากขึ้น รวมถึงการรอคอยโอกาสในการลงสนามให้กับชุดใหญ่ของสโมสรต้นสังกัดอย่างต่อเนื่องยังมีน้อย เพราะขาดประสบการณ์ในการแข่งขันระดับอาชีพที่มากพอ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยน และหักเหของเส้นทางชีวิตนักฟุตบอลเยาวชนสู่การเป็นนักเตะอาชีพของไทย ซึ่งอนาคตของช้างศึกขาดหายไปในช่วงวัยนี้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
การสร้างลีกฟุตบอลอายุไม่เกิน 21 ปี จะสร้างเวทีให้นักฟุตบอลมีแมตช์การแข่งขันที่ต่อเนื่องและสร้างสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ใกล้เคียงกับฟุตบอลลีกอาชีพมากขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นยังมีแรงกระตุ้น เกิดความท้าทายในการขึ้นสู่นักฟุตบอลชุดใหญ่ของสโมสรต่อไป รวมถึงเป็นเวทีเฟ้นหาช้างศึกเลือดใหม่สำหรับการแข่งขันอย่าง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และการคัดโอลิมปิกต่อไปในอนาคต
⚽แนวทางการส่งทีมเยาวชนแต่ละรุ่นเข้าร่วมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ “ก้าวผ่านความกลัวที่จะล้ม เพื่อชัยชนะในวันข้างหน้า”
เพื่อให้การพัฒนาของนักกีฬาที่ต่อเนื่องสมาคมฯ มีนโยบายส่งเสริมให้นักกีฬาเยาวชนมีโอกาสได้สัมผัส เรียนรู้ แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด สะสมเป็นประสบการณ์ล้ำค่า โดยตรงจากเกมการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ
โดยการส่งทีมเยาวชนในรุ่นอายุต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับอาเซียน อาทิ ซีเกมส์ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ และฟุตบอลอุ่นเครื่องรายการต่างๆ ด้วยนักกีฬาอายุน้อยกว่าเกณฑ์เป็นหลัก และไม่ใช้โควต้าอายุเกินอีกต่อไป
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาทีมชาติ สำหรับทัวร์นาเมนต์ในระดับเอเชีย และระดับโลกที่มีความสำคัญๆ ในอนาคตต่อไป
ซึ่งแผนงานทั้งหมดจะเป็นการวางรากฐานตามแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ 20 ปี ให้แก่นักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชนก่อนก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับวงการฟุตบอลไทย