สมาคมกีฬาจักรยานฯ พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดย “พลเอกเดชา” สั่งเดินหน้าใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา นำจักรยานฝึกซ้อมในร่ม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มาให้นักปั่นทีมชาติไทยฝึกซ้อมอยู่กับบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการฝึกซ้อมได้ไม่เต็มที่ตามโปรแกรมของโค้ช ด้าน “จุฑาธิป-จาย” ทดลองใช้แล้วยกนิ้วให้ สามารถส่งข้อมูลการฝึกซ้อมในแต่ละวันให้โค้ชวิเคราะห์ อีกทั้งไม่ต้องเสี่ยงกับการออกนอกบ้านแล้วไปติดเชื้อไวรัสโควิด-19
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลกและกระทบไปยังทุกวงการ แม้กระทั่งมหกรรมกีฬาใหญ่ที่สุดของโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 “โตเกียว 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ยังต้องเลื่อนกำหนดการออกไปอีก 1 ปี ขณะที่กิจกรรมการแข่งขันจักรยานทั่วโลกต่างก็ยกเลิกและเลื่อนการแข่งขันออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 หรืออาจจะยาวนานกว่านี้
พลเอกเดชา กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ต้องตัดสินใจปิดค่ายเก็บตัวฝึกซ้อมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และให้นักกีฬาทีมชาติไทยทุกชุดฝึกซ้อมอยู่กับบ้าน เพื่อสนองนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งนักปั่นทีมชาติไทยทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวประสบปัญหาในเชิงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประสานข้อมูล การฝึกซ้อมตามโปรแกรมที่ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ล่าสุด สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้หารือกับผู้นำเข้าจักรยานในร่มเพื่อการฝึกซ้อม ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดย บริษัท ฟิตเนส มาสเตอร์ จำกัด ได้มอบจักรยานฝึกซ้อมในร่ม หรือ โฮม เทรนเนอร์ IC8 พร้อมกับซอฟต์แวร์ Acti-Motive Performance Tracking for Group Exercise ให้แก่สมาคมกีฬาจักรยานฯ เพื่อใช้งานในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถเปิดค่ายฝึกซ้อมนักกีฬาได้
“ทางบริษัทได้จัดส่งช่างเทคนิคไปดำเนินการติดตั้งจักรยานฝึกซ้อมในร่ม IC8 และติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อการฝึกซ้อมดังกล่าวให้กับ ร้อยโทหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักปั่นโอลิมปิกเกมส์ของไทยเราที่บ้านในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน โดยมี พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ กสิยะพัท ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ร่วมวางโปรแกรมและกำกับการติดตั้งด้วยตัวเอง” พลเอกเดชา กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า การใช้อุปกรณ์ฝึกซ้อมดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้พัฒนานักปั่นทีมชาติไทย ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับการฝึกซ้อมซึ่งผู้ฝึกสอนสามารถกำหนดคอร์สการฝึกซ้อมในแต่ละวัน และติดตามการฝึกซ้อมได้แบบ “เรียล ไทม์” ในขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะเปรียบเทียบข้อมูลด้านพัฒนาการแต่ละด้านของนักกีฬาจักรยานจากการฝึกซ้อมและบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงเวลาได้ตามที่ต้องการ
นายกสมาคมกีฬาจักรยานฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างรอการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยได้เสนอเรื่องตามขั้นตอนไปยังฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวเต็มชุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 สำหรับการฝึกซ้อมแบบกลุ่ม ที่จะนำมาใช้กับนักกีฬาทีมชาติไทยในการเก็บตัวฝึกซ้อม และพัฒนาศักยภาพนักปั่นไทยให้สามารถพัฒนาได้ในทุกองคาพยพทัดเทียมกับนักปั่นระดับนานาชาติทั่วโลกต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวก็ยังจะช่วยแก้ปัญหากรณีนักกีฬาคนใดคนหนึ่งมีภารกิจจำเป็นในด้านการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงเวลาการลาฝึกซ้อมเพื่อไปสอบเป็นระยะ ๆ ก็จะไม่ขาดช่วงการฝึกซ้อมเหมือนในอดีต อีกทั้งผู้ฝึกสอนยังสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา ทั้งนักกีฬาจักรยานประเภทลู่ ถนน เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์ ซึ่งกระจัดกระจายซ้อมอยู่ตามแคมป์ต่าง ๆ จะได้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งแก้ปัญหากรณีที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ มีฝนตกฟ้าร้อง หรือมีลมพายุ ก็สามารถปรับแผนการฝึกซ้อมตามปกติ มาเป็นการฝึกซ้อมในร่มแทน
ด้าน “หมวดบีซ” ร้อยโทหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ กล่าวว่า จากที่ได้ฝึกซ้อมกับจักรยานฝึกซ้อมและโปรแกรมที่ตั้งไว้สัปดาห์แรก ผลก็คือการฝึกซ้อมมีเป้าหมายมากกว่าการขี่บนอุปกรณ์เทรนเนอร์ ในขณะเดียวกันผู้ฝึกสอนก็ยังได้นำเอาผลการฝึกซ้อมในแต่ละวันไปวิเคราะห์และประมวลผลประสิทธิภาพเพื่อสร้างคอร์สการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงเวลาได้ ข้อดีอีกประการคือเราไม่ต้องไปซ้อมข้างนอก เสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย
ส่วน “โค้ชตั้ม” พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ กสิยะพัท ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย กล่าวว่า สำหรับอุปกรณ์ โฮม เทรนเนอร์ IC8 คือเทคโนโลยีใหม่ สามารถปรับโปรแกรมการฝึกซ้อมอยู่กับบ้าน จากที่ได้ติดตามการฝึกซ้อมของ จุฑาธิป ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์ดังกล่าวครบถ้วนและง่ายต่อการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม รวมถึงยังสามารถเก็บข้อมูลได้ทุกช่วงเวลาเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการได้
ในขณะเดียวกัน “ทีเจ” จาย อังค์สุธาสาวิทย์ นักปั่นประเภทลู่ทีมชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการฝึกซ้อมในบ้านเช่นเดียวกันกล่าวว่า การฝึกซ้อมด้วยอุปกรณ์ โฮม เทรนเนอร์ ที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มอบให้นั้นไม่มีปัญหา ตนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลการฝึกซ้อมกับโค้ชที่ศูนย์ฝึกจักรยานโลก (WCC)ได้ตลอดเวลา.