xs
xsm
sm
md
lg

ท่านั่งขับรถที่สบายและปลอดภัย / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

"สวัสดีครับพี่หมอ" ไอ้เก่งเจ้าเก่าเอ่ยทักพลางยกมือไหว้ตัวแข็งทื่อในสภาพใส่เสื้อพยุงหลังพุงปลิ้น

"ปวดหลังไปทำอะไรมาจ๊ะเก่ง"

"ขับรถให้เฮียครับปีใหม่แกกลับบ้านขอนแก่นเอารถคันใหม่ไป"

"อ้าวรถไม่ดีหรอตั้ง 8 ล้านนะ"

"ดีสมราคาทุกอย่างครั้งพี่แต่ทำไมปวดหลังมากก็ไม่รู้"

"อ๋อกูรู้แล้วมึงมันชอบนอนขับแบบรถแข่งปรับเบาะเอนเกินผิดมนุษย์มนาสมน้ำหน้ามึง"

ท่านั่งขับรถที่ถูกต้องนอกจากลดอาการเมื่อยล้ายังช่วยให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถได้ดีที่สุดเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งการปรับท่านั่งขับรถให้ถูกต้องมีดังนี้

1.จับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา ถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดและไม่สูงเกินช่วงไหล่ เพราะทำให้สามารถหมุนพวงมาลัยได้รวดเร็วที่สุดพวงมาลัยหลุดมือยากและลดอาการเมื่อยล้า อย่าจับพวงมาลัยมือเดียวหรือหมุนด้วยการคล้องและคลึงโดยเด็ดขาด เพราะพวงมาลัยอาจจะหลุดมือและเสียการควบคุมรถได้

2.แขนงอขณะจับพวงมาลัย เมื่อปรับระยะห่างและผนักพิงตามที่แนะนำแล้ว วิธีที่ตรวจสอบระยะที่เหมาะสมคือลองเอาเขนเหยียดตรง แล้วพาดที่ด้านบนของพวงมาลัย ระยะที่ถูกต้องคือข้อมือต้องวางบนพวงมาลัยได้พอดี โดยที่ตัวยังแนบกับเบาะถ้ายังไม่พอดี ให้ปรับพวงมาลัยเข้า-ออกจนได้ระยะที่ต้องการ เมื่อลดมือลงมาจับที่ตำแหน่งจริง แขนจะเหลื่อมงอที่เหมาะสม ทำให้ควบคุมพวงมาลัยได้ดี

3.ปรับระยะเบาะให้พอดี ให้เข่ามีมุมงอเมื่อเหยียบเบรคจนสุดเพื่อให้สามารถเหยียบเบรคและคันเร่งได้เต็มที่ ช่วยลดอาการบาดเจ็บหากเกิดการชนจากด้านหน้า อย่าปรับเบาะไกลเกินไปจนขาตึง เพราะทำให้เหยียบเบรคไม่ถนัดและทำให้บาดเจ็บหนักจากการชน

4.ปรับความสูงเบาะให้เหมาะสม ให้เหลือระยะห่างระหว่างศีรษะกับเพดานรถเท่ากับหนึ่งกำปั้นหรือความกว้างของฝ่ามือ เพื่อให้มีทัศนะวิสัยการขับขี่ที่เหมาะสม พร้อมกับยกปลายเบาะให้เงยขึ้นเล็กน้อย การปรับเบาะเตี้ยหรือสูงเกินไปจะทำให้ทัศนะวิสัยแย่และควบคุมรถลำบาก

5.นั่งให้ชิดเต็มเบาะ เริ่มต้นจากขยับแผ่นหลัง สะโพก และต้นขา ให้ชิดเบาะมากที่สุด เพื่อให้เบาะโอบรัดสรีระร่างกายทุกส่วน ช่วยลดอาการเมื่อยล้าและสร้างความมั่นคงในขณะขับขี่ การนั่งไม่เต็มเบาะจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง

6.ปรับผนักพิงให้เอนเล็กน้อยประมาณ 110 องศาเพื่อให้มีระยะห่างจากพวงมาลัยที่เหมาะสมช่วยให้ควบคุมรถได้ง่าย การเอนตัวขับ นอกจากจะควบคุมรถได้ไม่ดีแล้ว ยังทำให้เมื่อยหลังโดยไม่รู้ตัว และเกิดความเครียดจากการต้องเพ่งมองทางมากกว่าปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น