คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
ที่ร้านสุกี้ชื่อดัง "ไอ้เก่ง! เก็บอาการหน่อยอย่าทำเสียกิริยา" พี่หมอเตือนคุณเก่งที่เลอออกมาเสียงดังลั่นจนสาวๆ โต๊ะข้างๆ ตกใจวุ้ยว้ายตามด้วยเสียงหัวเราะคิกคักอย่างกลั้นไม่อยู่จนเจ้าอ้วนอายจนแทบมุดหม้อสุกี้หนีพลางกลบเกลื่อน
"สงสัยผมแพ้ผงชูรสนะครับพี่หมอ"
"ไม่เกี่ยวเลยไอ้อ้วน" คุณชูสง่าเหยียบซ้ำ
กรณีที่มีผู้โพสต์ภาพแม่ค้าส้มตำร้านหนึ่งใส่ผงชูรสจำนวนมากลงในครกที่กำลังตำ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภค โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าผงชูรสนั้นมีชื่อเรียกว่าโมโนโซเดียมกลูตาเมต มีส่วนประกอบของโซเดียมด้วย โดยผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ ซึ่งจะกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แพ้ผงชูรสจะมีอาการรู้สึกชาที่ปากลิ้นปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำ ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมากๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านั้นจะหายเองภายในเวลา 2 ชั่วโมงรวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีก โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากกินผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองได้ ยังไม่รวมถึงภาวะที่ได้รับเกลือโซเดียมมากเกินไป ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นอีกด้วย
แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ผงชูรสจริงๆ ควรใช้ในปริมาณเล็กน้อยและควรเพิ่มความพิถีพิถันในการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสดสะอาดมีคุณค่าทางโภชนาการและการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ หากจะใช้ให้เลือกซื้อผงชูรสโดยการสังเกตหีบห่อหรือกระป๋องบรรจุขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิ ฉลากการพิมพ์เป็นตัวหนังสือภาษาไทยชัดเจน ไม่เลอะเลือนและต้องระบุชื่ออาหารแสดงคำว่า "ผงชูรส" ตลอดจนมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร (อย.) ระบุชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตเดือนปีที่ผลิตรวมทั้งน้ำหนักสุทธิอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันผงชูรสปลอม