คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
"โอ้! โล่งอกไป!!" เสียงอุทานอย่างโล่งอกของนายเก่งเด็กหนุ่มร่างท้วม เมื่อเห็นคุณชูสง่าหัวหน้าก๊วนโผล่เข้ามาในคลับเฮาส์
"อะไรของมึงวะไอ้เก่ง" พี่หมอเป็นงง
"ก็ผมเพิ่งอ่านข่าวว่าชายชราอายุ 60 กว่าเสียชีวิตคาฟิตเนสที่เฮียแกเป็นเมมเบอร์อยู่ เพราะยกน้ำหนัก 120 กิโลหนักเกินตัว ผมนึกถึงเอียเลย เพราะแกชอบโชว์พาวอวดสาวๆ อยู่ด้วย"
- ออกกำลังกายหนักไปตายได้ทุกวัยไม่ว่าหนุ่มหรือแก่แนะนำหลักการ FITT ช่วยให้ปลอดภัยในการออกกำลังกาย
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีชายวัย 60 ปีเสียชีวิตภายในฟิตเนส เนื่องจากยกน้ำหนัก 120 กิโลกรัมเกินกว่าที่ตัวเองจะรับไหว จนเกิดข้อกังวลเรื่องของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุว่า การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมเป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายและอาจเสียชีวิตได้ในทุกกลุ่มทุกวัยอยู่แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าผู้สูงอายุก็สามารถออกกำลังกายได้และจำเป็นต้องออกกำลังกายด้วย เพราะช่วยให้สุขภาพแข็งแกร่ง แต่การออกกำลังกายจะต้องพิจารณาพื้นฐานของร่ายกายตนเองว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่เคยออกกำลังกายชนิดนั้นๆ มาก่อนหรือไม่ หากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเป็นผลทางด้านหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขี้นระหว่างการออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น อาการจุกแน่นหน้าอก หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น หมดสติ เป็นต้น หากพบอาการดังกล่าวให้หยุดออกกำลังกายทันที
นอกจากจะประเมินตนเองก่อนแล้วหลัก FITT เป็นอีกหนึ่งทางปฎิบัติเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ
1.F-Frequency ความถี่ในการออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์หรือประมาณวันเว้นวัน
2.I-Intensive ความหนักในการออกกำลังกายหนักระดับที่ร่างกายรับได้ โดยสังเกตจากอาการขณะออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ควรออกในระดับที่เหนื่อย แต่ยังพอพูดได้ประโยคสั้นๆ ส่วนการออกกำลังกายแบบแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก ควรออกในระดับที่รู้สึกตึงกล้ามเนื้อ โดยไม่ควรกลั้นหายใจขณะออกแรงและควรเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3.T-Time ระยะเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือคาร์ดิโอ ควรออกอย่างต่อเนื่อง แต่ละครั้งอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไปได้จนถึง 30 นาทีหรือมากกว่านั้นได้หากชำนาญหรือคุ้นชินแล้ว
4.T-Type การออกกำลังกายแบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบต่อเนื่องหรือคาร์ดิโอ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบบแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก บอดี้เวท และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นส่วนต่างๆ เพื่อความยืดหยุ่นบรรเทาปวด
"สิ่งสำคัญควรมีช่วงอบอุ่นร่างกายเพื่อเตรียมและช่วงชะลอเพื่อหยุด รวมถึงควรเพิ่มระดับความท้าทายแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งสังเกตอาการผิดปกติเสมอให้ได้ระดับที่เหนื่อยแต่พอพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ ทั้งหมดออกกำลังกายควรรวมให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที" รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว