คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
ที่คลับเฮาส์แห่งหนึ่งแถวๆ อยุธยา
“สวัสดีครับเฮีย ขาเป็นไรครับ” หมอร้องทักขณะคุณชูสง่าลงจากรถ เดินกระย่องกระแย่งเข้ามาในคลับเฮาส์ “ตะคริวกิน…หมอ…เกือบขับรถมาไม่ถึง….เดี๋ยวนี้ชักเป็นถี่!...ปวดโคตรทรมานเลย!”
“นั่งพักก่อน….กล้วยหอมสักลูกครับเฮีย…สงสัยขาดน้ำ!”
ไอ้เก่งถาเข้านวดขาตามหน้าที่ทันทีที่เฮียหย่อนก้นลงนั่ง
ตะคริว ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณน่องและนิ้วเท้า เป็นได้ทั้งเด็กผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และเกิดได้ทุกเวลา โดยจะมีอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมักจะนานไม่เกิน 2 นาที แต่บางรายอาจเกิดนานถึง 5 นาที หรือนานกว่านั้น ขณะเป็นจะเกร็งปวดมาก หลังจากนั้น จะเจ็บระบมเวลาใช้งาน อาการนี้แม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ตะคริวส่วนใหญ่เกิดมาจากหลายสาเหตุ อาจเกิดมาจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด หรือเกิดมาจากโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณน่องไม่ดี รวมทั้งการเสียเหงื่อมากจากสภาพอากาศร้อน ร่างกายขาดน้ำ และปริมาณของเกลือแร่ในเลือดต่ำ ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ซึ่งป้องกันการเกิดตะคริวและควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ คือ วันละไม่ต่ำกว่า 6 - 8 แก้ว หรือให้ได้วันละ 2 ลิตร โดยให้จิบต่อเนื่อง ผู้สูงอายุบางท่านไม่กล้าดื่มน้ำมากระหว่างเดินทาง เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย ไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ไม่กล้ารบกวนลูกหลาน จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ
ส่วนเครื่องดื่มที่ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มระหว่างเดินทาง ได้แก่ ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย อาหารที่ควรรับประทานเพิ่มเนื่องจากมีประโยชน์และมีเกลือแร่ประเภทแคลเซียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม ได้แก่ นมสด กล้วยหอม โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบตัวเองว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะ หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะหยุดกระหายน้ำ และสีของปัสสาวะใสขึ้น
การปฐมพยาบาลเมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นที่น่องเบื้องต้น โดยค่อยๆ ดันปลายเท้าข้างที่เป็นเข้าหาเช่า โดยค่อยๆ เพิ่มกำลังดันเพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เกร็งให้ยืดออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติ จนกระทั่งหายปวด ประมาณ 1 - 2 นาที แล้วปล่อยมือหากยังมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่องให้ทำซ้ำจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้ออีก หลังจากนั้น อาจทำการนวดเบาๆ ให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
ไอ้เก่งเงยหน้าขึ้นทันที…เมื่อได้ยินเสียงกรนดังลั่น!
“อ้าว!....เฮีย กรนเบาๆ หน่อยครับ…หลับไปเมื่อไรเนี่ย? ถึงเวลาออกรอบแล้วครับ!!”
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *