คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“ไข้หัวลมมันเป็นยังไงอ่ะหมอ?....เห็นเมียเค้าชอบเตือนเฮียเรื่อย…ให้ระวังไข้หัวลมเวลามาอออกรอบเนี่ย”
“อ๋อ…ไข้หัวลมที่ชาวบ้านเรียกกัน…ก็เป็นอาการของไข้หวัดหรือแพ้อากาศที่มักชอบเป็นกันในช่วงที่ลมหนาวเริ่มพัดมาในช่วงนี้นะครับเฮีย”
ช่วงนี้อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศบางช่วงหนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ที่สามารถพบได้บ่อยคือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งมีสาเหตุมาจากรับเชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก ได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้มักอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จาม และอาจจะติดอยู่กับภาชนะหรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยได้ สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีไข้หนาวสั่นร่วมด้วย สำหรับในรายที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากมีความต้านทานต่ำกว่าคนปกติ ผู้ปกครองจึงควรดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านอย่างใกล้ชิด และหากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการไม่สบายเป็นไข้หวัด มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนอยู่กับบ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกไปในสถานที่สาธารณะให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และหมั่นสังเกตอาการ หากตัวร้อนมากให้รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น ไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยคือ หมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม ปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภค ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก สัปปะรด ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เข้าห้องน้ำ เช็ดถูทำความสะอาดสิ่งของ เป็นต้น ออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ การปั่นจักรยาน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด จะทำให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าวได้
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *