เตือนช่วงปลายฝนต้นหนาว “กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ” เสี่ยงโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนปกติ แนะวิธีปฏิบัติตัวดูแลสุขภาพ ป้องกันเจ็บป่วยช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนฤดูเข้าสู่ฤดูหนาว มีทั้งฝนตก บางช่วงอากาศหนาวเย็น อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ที่สามารถพบบ่อย คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หรือ หลอดลมอักเสบ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม มีสาเหตุมาจากรับเชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก และ ตา ได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้มักอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม และอาจติดอยู่กับภาชนะ หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยได้ สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
“สำหรับในรายที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ ผู้ปกครองจึงควรดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีอาการไม่สบายเป็นไข้หวัด ให้คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด พยายามให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากตัวร้อนมาก ให้รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที” นพ.ณรงค์ กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพในช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย คือ หมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำลงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม ปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภค ดื่มน้ำสะอาด และ รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก สับปะรด ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะจะทำให้ร่างแข็งแรงต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ การปั่นจักรยาน การเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดจะทำให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าวได้
“ถ้าประชาชนปฏิบัติตนได้ตามคำแนะนำ จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ประชาชนควรเตรียมพร้อมรับฟังข้อมูลข่าวสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ในส่วนของประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี ตามสถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านทั่วประเทศ” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว