xs
xsm
sm
md
lg

อากาศเปลี่ยนเสี่ยง “ไข้หวัดใหญ่” แนะวิธีสังเกตอาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการแพทย์เตือนอากาศเปลี่ยนเสี่ยง “ไข้หวัดใหญ่” ชี้ สังเกตอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาวปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ย้ำ ไม่ควรละเลยหากมีอาการแทรกซ้อนมากอาจเสียชีวิตได้

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน ส่งผลให้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดเฉียบพลัน ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ความเป็นจริงโรคไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงกว่า ก่อให้เกิดความทรมานมากกว่า บางรายมีอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง จะทำให้เกิดอาการปอดบวม หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ สำหรับในรายที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ชนิด เอ บี และ ซี โดยพบมากที่สุดคือ ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (H1N1) (H3N2) การแพร่กระจายและติดต่อของเชื้อไวรัสพบมากในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งสามารถติดกันได้จากการไอรดกัน การหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางสิ่งของที่ใช้ปนกัน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิด ประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา และปาก ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นาน 3 - 5 วัน นับจากเริ่มป่วย ในเด็กสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่ คือ 7 - 10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีกในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง

“อาการของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ โดยในเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง จะสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยได้ภายใน 5 - 7 วัน แต่ในบางรายที่ปอดอักเสบรุนแรง จะพบว่า ผู้ป่วยหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.ธีรพล กล่าวว่า สำหรับวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ปิดปาก และจมูก เมื่อมีการไอ จาม โดยสวมหน้ากากป้องการแพร่กระจายของโรค หรือไอรดต้นแขนด้านในตนเอง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดและผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไข้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องมีการป้องกันไม่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากผู้อื่นด้วย ที่สำคัญ หากอาการไม่ดีขึ้นมีไข้สูงเกิน 2 วัน หรือหอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์ ผู้ป่วยควรหยุดงานอยู่บ้าน จนกว่าอาการจะทุเลา เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ ประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้วไม่ต้องกังวล เนื่องจากวัคซีนที่ร่างกายได้รับยังสามารถป้องกันโรคนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น