xs
xsm
sm
md
lg

เตือน ปชช.ร่วมสักการะพระบรมศพ จิบน้ำบ่อย ๆ วันละ 2 ลิตร เลี่ยงชา-กาแฟ ป้องกันเกิด “ตะคริว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. เตือน ปชช. ร่วมสักการะพระบรมศพ จิบน้ำบ่อย ๆ วันละ 2 ลิตร ป้องกันการเกิด “ตะคริว” ย้ำอย่าอดน้ำ เลี่ยงดื่มชา กาแฟ กินนมสด โยเกิร์ต กล้วยหอม เสริมเกลือแร่ให้ร่างกาย กรมควบคุมโรคห่วงอากาศร้อนทำป่วยฮีตสโตรก ขอ ปชช. เตรียมร่างกายให้พร้อม

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางมาแสดงความอาลัยถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พบว่า มีผู้เป็นตะคริวทุกวัน ซึ่งเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน มักเป็นไม่เกิน 2 นาที บางรายอาจนานถึง 5 นาที หรือนานกว่านั้น ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณน่อง จะทำให้ปลายเท้าชี้ลง สาเหตุมีทั้งจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด หรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพราะมีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณน่องไม่ดี รวมทั้งการเสียเหงื่อมากจากสภาพอากาศร้อน ร่างกายขาดสารน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือดต่ำ ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า การป้องกันการเกิดตะคริว ขอแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางมาแสดงความอาลัย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ คือ วันละไม่ต่ำกว่า 6 - 8 แก้ว หรือให้ได้วันละ 2 ลิตร โดยให้จิบต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนบางคนไม่กล้าดื่มน้ำมากระหว่างเดินทาง เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย ไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ไม่กล้ารบกวนลูกหลาน จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ เครื่องดื่มที่ควรลด หรือหลีกเลี่ยงการดื่มระหว่างเดินทาง ได้แก่ ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย อาหารที่ควรรับประทานเพิ่ม เนื่องจากมีประโยชน์และมีเกลือแร่ประเภทแคลเซียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม ได้แก่ นมสด กล้วยหอม โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบตัวเองว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะทุกครั้ง หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะหยุดกระหายน้ำและสีของปัสสาวะใสขึ้น โดยได้มอบหมายกองสุขศึกษาเผยแพร่ความรู้นี้ทางเว็บไซต์ของกรม สบส. แล้ว

“เมื่อเกิดอาการตะคริวที่น่อง สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยค่อย ๆ ใช้กำลังดันปลายเท้าข้างที่เป็นเข้าหาเข่า โดยค่อย ๆ เพิ่มกำลังดัน เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เกร็ง ให้ยืดออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติ จนกระทั่งหายปวดประมาณ 1 - 2 นาที แล้วปล่อยมือ หากยังมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่อง ให้ทำซ้ำ จนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ” อธิบดี สบส. กล่าว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หากประชาชนต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด หรือต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน สิ่งที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะฮีตสโตรก ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ จากผลของสภาพอากาศที่ร้อน โดยจะมีอาการพบได้ตั้งแต่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นฮีตสโตรกได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน 5. ผู้ที่อดนอน และ 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ขอแนะนำประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ควรเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย โดยสิ่งที่ควรมีติดตัว คือ 1. ร่มหรือหมวก เพื่อป้องกันแสงแดด 2. พัด หรือพัดลมมือถือ เพื่อช่วยคลายความร้อนให้กับร่างกาย และ 3. น้ำดื่ม ควรพกน้ำติดตัวไว้และหมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำได้ นอกจากนี้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรพักเข้ามาหลบอยู่ในที่ร่มทุก ๆ ชั่วโมง รวมถึงหมั่นสังเกตคนรอบข้างและตนเอง หากเกิดอาการเจ็บป่วย ขอให้พบแพทย์ทันที หรือ โทร.ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระวังเป็นพิเศษ รวมถึงพกยารักษาโรคประจำตัวติดตัวไว้” อธิบดี คร. กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น