อุบลราชธานี - สคร.10 เตือนภัยจากการจุดประทัดออกพรรษาตาย 10 เจ็บปีละเกือบ 700 คน กลุ่มเด็กและเยาวชนเสี่ยงมากสุด แนะผู้ปกครองต้องดูแลลูกหลานใกล้ชิด พร้อมแนะนำไม่ควรนำประทัดขนาดใหญ่มีแรงอัดสูงมาจุดเล่น
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สคร.10 กล่าวถึงข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการเล่นประทัดของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ จากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ระหว่างปี 2554-2558 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัดจำนวน 3,326 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 665 ราย
ในจำนวนนี้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถึง 10 ราย โดยในปี 2558 พบมีผู้บาดเจ็บ 532 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย กลุ่มอายุที่พบบ่อยคือ 15-19 ปี รองลงมาคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 20-24 ปี
นพ.ศรายุธกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด เพราะซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุมาจุดเล่นเองตามลำพังหรือกับเพื่อน ทำให้มีโอกาสได้รับบาดเจ็บรุนแรงเพราะไม่ทราบถึงความร้ายแรงของแรงอัดประทัดที่นำมาเล่น วิธีการป้องกันไม่ให้ประทัดก่อให้เกิดอันตราย ผู้ปกครองต้องแนะนำไม่ให้ซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุขนาดใหญ่มีแรงอัดสูงมาเล่น
หากจะเล่นให้เลือกซื้อประทัด ดอกไม้ไฟที่มีแรงอัดน้อย พร้อมทั้งระหว่างเล่นต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
ส่วนการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุแบบปลอดภัยคือ ต้องอ่านคำแนะนำก่อนจุดชนวน ระหว่างการจุดชนวนต้องให้ประทัดอยู่ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน เล่นในที่โล่งแจ้งป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุหรือเชื้อเพลิง หลีกเลี่ยงการเล่นใกล้วัตถุไวไฟ แนวสายไฟฟ้า ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่เล่นเพื่อไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
อย่าประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุเล่นเอง โดยเฉพาะนำประทัดไปใส่ในขวดหรือกระป๋องสังกะสี เพราะแรงอัดทำให้เศษกระจกหรือเศษสังกะสีที่แตกจากการจุดระเบิดกลายเป็นสะเก็ดบาดมือ ลำตัว หรือใบหน้าจนฉีกขาดได้
นอกจากนี้ การเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ยังทำให้ได้รับสารเคมี เช่น สารแบเรียมไนเตรท ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก และผิวหนัง ทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมทั้งความดังของเสียงระเบิดมีระดับเสียงสูงถึง 130 เดซิเบล มีผลให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว และหากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร ความร้อนของประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้
“หากได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ รีบโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทันที” นพ.ศรายุธกล่าวในที่สุด