ASTV ผู้จัดการรายวัน – ศึกฟุตบอล ไทย พรีเมียร์ ลีก กำลังเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพเต็มตัว โดยล่าสุดบอร์ด “ทีพีแอล” ในฐานะฝ่ายจัดการแข่งขัน ได้ผุดนโยบายที่จะลดจำนวนทีมเข้าแข่งขันลง จากปัจจุบัน 18 ทีม ให้เหลือเพียง 16 ทีมในอนาคต ซึ่งหลายสโมสรเห็นพ้องด้วย เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพของลีก และมองว่าเป็นเรื่องที่มีผลดีมากกว่าผลเสีย
ในการประชุมบอร์ดบริหาร ไทย พรีเมียร์ ลีก หรือ “ทีพีแอล” ครั้งล่าสุด มีตัวแทนสโมสรสมาชิกจาก ศึกโตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก คือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี และ บางกอกกล๊าส เอฟซี เข้าหารือถึงทิศทางในการพัฒนาวงการลูกหนังไทย ร่วมกับ ผู้บริหารบริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด และตัวแทนจาก ยามาฮ่า ลีก วัน(ดิวิชัน 1) โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การเสนอให้ ลดจำนวนทีมบนเวทีลีกสูงสุด และลดระยะเวลาการเตรียมทีมของทีมชาติไทย ให้เหลือ 2 สัปดาห์ ตามกฎสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟา) เนื่องจากหากเกินกว่านั้นมีการประเมินว่าสโมสรจะสูญเสียรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท
โดยสโมสรมองว่า การหั่นออก 2 ทีม จาก 18 ทีม ให้เหลือ 16 ทีม จะช่วยลดโปรแกรมการแข่งขันลงได้ถึง 74 นัด จากปัจจุบันที่มีเกมฟาดแข้งรวมทั้งสิ้น 306 นัด ซึ่งจะส่งให้เกมฟาดแข้งนัดกลางสัปดาห์ที่มีผู้ชมน้อยและไม่ทำรายได้ให้กับทีมลดน้อยลง
อย่างไรก็ตามแม้นโยบายนี้จะเป็นเพียงข้อเสนอและยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอพิจารณาในที่ประชุม “มีต เดอะ คลับ” ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นี้ อีกครั้ง โดยจะมี วรีวร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนเมือง กุนซือทีมชาติไทย พร้อมด้วยตัวแทนแต่ละสโมสร เข้าร่วม แต่ก็มีหลายทีมที่ขานรับและเห็นด้วยกับแนวทางนี้หลายเสียง นำโดย อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี ที่แนะว่าควรใช้ “คลับ ไลเซนซิง” เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกทีมเข้าแข่งขัน
“ผมมองว่าทีพีแอลควรเน้นเรื่อง คลับ ไลเซนซิง ให้มากกว่านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีไม่กี่ทีมที่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่เอเอฟซี(สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย)กำหนด ทั้งในเรื่องสนามแข่งขัน โครงสร้างสโมสร สัญญาจ้าง ทีมเยาวชน ระบบรักษาความปลอดภัย ตลอดจนบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ ดังนั้นหากมีสโมสรที่ไม่พร้อมอยู่มากก็จะเป็นการฉุดภาพรวมของลีก และยังฉุดคะแนนที่จะใช้เป็นตัววัดโควตาไปแข่งขันระดับเอเชียด้วย ฉะนั้นควรจะตั้งเกณฑ์วัดคะแนนกำหนดไปเลยว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ หากทีมไหนไม่ถึงก็ไม่สามารถแข่งได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นแต่ละทีมก็จะเร่งพัฒนาตัวเองโดยมีทีพีแอลและสโมสรที่ผ่านเกณฑ์เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยให้คำแนะนำ แล้วเราจะได้ลีกที่มีคุณภาพจริงๆ เราต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ” รองประธานฉลามชล กล่าว
เช่นเดียวกับ ธัญญะ วงศ์นาค ผู้จัดการทีมบีอีซี เทโรศาสน ที่เห็นพ้องว่าการลดจำนวนทีมในลีกลงจะช่วยเรื่องโปรแกรมการแข่งขัน หลังจากที่แต่ละทีมต้องลงแข่งขันฟุตบอลถ้วยอีก 2 รายการด้วยในแต่ละซีซัน “การลดจำนวนทีมจะเป็นผลดีต่อโปรแกรมการแข่งขัน ทำให้โปรแกรมไม่อัดแน่นจนเกินไป จากนี้ทีมชาติจะมีโปรแกรมมากขึ้น หากนักเตะต้องลงเล่นเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 นัดติดต่อกันทั้งปี ก็อาจจะล้าจนได้รับบาดเจ็บได้ ที่สำคัญทุกวันนี้บอลลีกนั้นเข้มข้นขึ้นมาก หากเราต้องลงเล่นเกมกลางสัปดาห์บ่อยๆก็จะมีเวลาพักฟื้นกันน้อย”
ขณะที่ ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมบุรีรัมย์ เป็นอีกรายที่สนับสนุนเรื่องนี้ พร้อมเปรียบเทียบกับ เอ-ลีก ออสเตรเลีย ที่มีเพียง 10 ทีม “ผมมองว่าการลดจำนวนทีมลงจะช่วยในหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องโปรแกรม การทำคะแนน คลับ ไลเซน และที่สำคัญจะได้ทีมที่มีคุณภาพจริงๆ ดูอย่าง เอ-ลีก ที่ทำไมมีเพียงแค่ 10 ทีม หากลดทีมแล้วทำให้ฐานลีกดีขึ้น ในอนาคตเราจะเพิ่มทีมให้กลับมาเท่าเดิมก็ทำได้”
แต่ทั้งนี้ยังมีบางเสียงที่มองถึงข้อเสียในการลดจำนวนทีมเช่นกัน โดยมองว่าอาจจะเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของลีกที่กำลังบูม เนื่องจากแต่ละทีมที่ได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นทั้งเรื่องจำนวนแฟนบอล และงบประมาณในการทำทีม เมื่อลดทีมก็จะทำให้โควตาของทีมที่พร้อมจะก้าวขึ้นมาพัฒนาลดน้อยลงตามไปด้วย เหนือสิ่งอื่นใดคือหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการหั่นทีม ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะใช้วิธีใด อาทิ ใช้คะแนน คลับ ไซเซนซิง เป็นตัววัด, การเพิ่มทีมตกชั้นเป็น 5 ทีม หรือตกชั้น 3 ทีมตามเดิม แล้วเลื่อนชั้นจากลีกรองขึ้นมาทีมเดียวแทน โดยจะต้องมีการวางแผนเพื่อชั่งน้ำหนักผลดี-ผลเสียให้รอบคอบ และแจ้งให้สโมสรทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *