xs
xsm
sm
md
lg

จะเป็นประธาน ฟีฟ่า ต้องมีอะไรบ้าง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

คู่แข่งคนสำคัญในการชิงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ร่วงหลุดจากวงโคจรไปอีกคน เนื่องจากจดหมายยืนยันการให้การสนับสนุนไม่เพียงพอ ทำให้ตอนนี้ โชเซ้ฟ บลั๊ทเท่อร์ (Joseph “Sepp” Blatter) ที่เป็นตัวเต็งอยู่แล้วจึงมีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ได้เป็นผู้นำองค์กรสูงสุดของโลกในวงการฟุตบอลต่อเป็นสมัยที่ 5

คณะกรรมการการเลือกตั้งของ ฟีฟ่า ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเสนอตัวลงชิงตำแหน่งประธานองค์กรดังกล่าวคือ ต้องเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรฟุตบอลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับนานาชาติก็ได้ และมีจดหมายยืนยันการให้การสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลของชาติสมาชิกซึ่งมีจำนวน 209 ชาตินั้น เอาแค่ 5 ชาติ ทั้งนี้ เอกสารต่างๆ ต้องส่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของ ฟีฟ่า ไม่ช้ากว่าเวลาเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา

เชโรม ช็องปาญ (Jerome Champagne) อดีตรองเลขาธิการ ฟีฟ่า วัย 56 ปี ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เสนอตัวรายล่าสุดที่ออกมาโบกมือลา จากการที่ได้รับจดหมายสนับสนุนเพียง 3 จาก 5 ฉบับที่ต้องการ หมอนี่บ่นว่า มันมีแรงกดดันไปยังนายกสมาคมฟุตบอลทั่วโลก ทำให้พวกนี้รู้สึกแหยงจนไม่กล้าแสดงตนประกาศให้การสนับสนุนเขา บางทีก็กลัวจะไปขัดกับสหพันธ์ฟุตบอลของทวีปตน บากคนก็คิดว่าการโค่น เซ้ฟ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เดี๋ยวตนจะต้องเสียเงินเสียทองในการสนับสนุนมากมาย

อดีตนักการทูตคนนี้เข้าสู่วงการฟุตบอลหลังจากประสพความสำเร็จเป็นอย่างดีในฐานะที่ปรึกษาทางการทูตและเป็นหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายพิธีการทูตในคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ฟร้องซ์ ’98 เชโรม เข้าสู่ตำแหน่งบริหารใน ฟีฟ่า ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปี 2010 หลังจากนั้นก็ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้สมาคมฟุตบอลหลายชาติตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เขาเคยชี้ให้ผู้คนเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลในปัจจุบัน เช่น เรื่องความสมดุลและไม่สมดุลกันระหว่างฟุตบอลสมัครเล่นกับฟุตบอลอาชีพ ฟุตบอลสโมสรกับฟุตบอลทีมชาติ ปัญหาการแบ่งแยกของฟุตบอลยุโรปจากฟุตบอลทั่วโลก ความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างนักเตะกับสโมสร ความเกี่ยวพันกับเงินที่วงการฟุตบอลต้องการได้รับการสนับสนันแต่หากมีส่วนใดได้รับมากเกินไปก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง การที่องค์กรฟุตบอลมีอำนาจเบ็ดเสร็จปลอดจากอำนาจทางการเมือง รวมทั้ง เรื่องการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ในวงการฟุตบอล

เชโรม นำเสนอสิ่งใหม่ๆมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงการบริหารภายใน ฟีฟ่า ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน ทำโครงสร้างการบริหารองค์กรให้แข็งแกร่ง ปรับเปลี่ยนอำนาจความรับผิดชอบระหว่างประธานฟีฟ่า บอร์ดบริหาร และสมาคมชาติสมาชิกให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ อันนี้ก็คงมุ่งไปในประเด็นที่ตัวประธานฟีฟ่าที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไปนั่นเอง นอกจากนั้นเขายังคิดปรับปรุงวงการผู้ตัดสิน และให้บุคคลในวงการฟุตบอลมีส่วนร่วมกับฟีฟ่ามากกว่าแต่ก่อน

นอกจากนั้น ดาวิด ชีโนลา (David Ginola) อดีตกองหน้าทีมชาติ ฝรั่งเศส ที่เคยมาโด่งดังกับ ท็อทแน่ม ฮ็อทสเปอร์ วัย 48 ปี ก็เป็นผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งประธาน ฟีฟ่า อีกคนหนึ่ง ซึ่งเขาเพิ่งประกาศตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมานี่เอง แต่เพียง 2 สัปดาห์ต่อมาก็ต้องยอมจำนนถอนตัวออกไปด้วยเหตุผลเดียวกับ เชโรม คือ ได้รับจดหมายยืนยันการสนับสนุนไม่เพียงพอ

ในท้ายสุด หลังจากหมดเขตรับสมัคร ตอนนี้คงเหลือผู้เข้าชิงทั้งสิ้น 4 คน คือ โชเซ้ฟ บลั๊ทเท่อร์ ประธาน ฟีฟ่า คนปัจจุบัน วัยย่าง 79 ปี ชาวสวิส เจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน (Prince Ali bin Al-Hussein) รองประธาน ฟีฟ่า คนปัจจุบัน วัย 39 ปี จาก จอร์แดน และ มายเคิ่ล ฟัน พราก (Michael van Praag) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ส วัย 67 ปี และรายล่าสุดคือ ลูอิช ฟิโก (Luis Figo) อดีตนักเตะทีมชาติ ปอรตูเกา เจ้าของรางวัล บัลลง ดอร ปี 2000 ที่เพิ่งประกาศตัวลงชิงตำแหน่งด้วยเพียงวันเดียวก่อนปิดรับสมัคร

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น