xs
xsm
sm
md
lg

“สโมสร” พ่วง “รัฐ”วงจรไร้ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าเรือ เจอปัญหาเรื้อรัง
ASTV ผู้จัดการรายวัน – เป็นประจำแทบทุกปีเมื่อจบฤดูกาลศึกลูกหนังประเทศไทยจะเกิดกระแสข่าวการยุบทีมหรือการบอกลาจากคนทำทีมเนื่องจากเกิดปัญหาต่างๆภายในสโมสรโดยเฉพาะเรื่องการเงินและไร้การสนับสนุน โดยส่วนมากมักเกิดขึ้นกับทีมที่ยังพ่วงติดกับหน่วยงานรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการดำเนินงานทุกขั้นตอนไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ จึงวนเวียนซ้ำไปมาจนกลายเป็นวงจรที่ไม่สามารถก้าวสู่การเป็นมืออาชีพได้อย่างแท้จริง

หลังจากที่ บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด หรือ ทีพีแอล ออกกฎเหล็กเมื่อปี 2009 ให้ผู้บริหารสโมสรฟุตบอลอาชีพ ต้องจัดตั้งในรูปนิติบุคคล (บริษัท) และ ห้ามรัฐบาลเป็นเจ้าของ เพื่อดำเนินการบริหารสโมสรอย่างเป็นมืออาชีพตามนโยบายของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ทำให้หลายสโมสรต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ บ้างขายสิทธิ์ทำทีมถาวรให้ผู้อื่นเข้ามาทำแทน เช่น บางกอกกล๊าส เอฟซี ที่เทคโอเวอร์ ธนาคารกรุงไทย และ บุรีรัมย์ พีอีเอ ที่เข้าถือหุ้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อนจะซื้อขาดภายหลัง บ้างจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นบริหารงานเอง อาทิ ทหารบก (บริษัท อาร์มี่ฟุตบอล จำกัด), ทหารอากาศ (บริษัท แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด จำกัด), ตำรวจ (บริษัท สโมสรฟุตบอลโล่ห์เงิน จำกัด มหาชน) หรือ องค์การโทรศัพท์(ทีโอที สปอร์ต คลับ จำกัด) บ้างปล่อยเช่าโดยการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู(MOU)กับเอกชน เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ พนักงานยาสูบ

โดยในกรณีการเปลี่ยนมือสู่บริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบแสดงให้เห็นแล้วว่าทีมสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องครบวงจรและยั่งยืนทั้ง บางกอกกล๊าส และ บุรีรัมย์ ขณะที่อีก 2 เคสหลังนั้นยังไม่มีทีมไหนที่กลับมาครองความยิ่งใหญ่เหมือนครั้งอดีตได้ หนำซ้ำบางทีมยังตกเป็นข่าวสุ่มเสี่ยงต้องยุบทีมเกือบทุกปี อย่างเช่นในฤดูกาลล่าสุด “ฮัลโหล” ที่ได้รับผลพวงจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเข้าแผนฟื้นฟู หรือ สิงห์ ท่าเรือ ที่ “หมอทรง” นพ.ทรง วงษ์วานิช ประธานทีมพร้อมสตาฟฟ์ เตรียมโบกมือลาคืนสิทธิ์ให้เจ้าท่า เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร

ด้าน ตรีลุพธ์ ธุปกระจ่าง ผู้จัดการทีม สิงห์ ท่าเรือ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากเจ้าของสิทธิ์ “อย่างที่ทราบว่าเราเป็นแค่บริษัทเอกชนที่เข้ามาทำทีม แม้จะมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน 5 ปี แต่เจ้าของสิทธิ์ซึ่งก็คือการท่าเรือแห่งประเทศไทยสามารถเรียกคืนสิทธิ์ได้ทุกเมื่อ เราจึงไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแม่ จะทำอะคาเดมีของตัวเองก็ยังลำบากเลย และแม้ตลอด 2 ปีที่ผมเข้ามาทำทีมจะสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้แต่ก็ยังไม่ได้ความชัดเจนในการสนับสนุนในฤดูกาลหน้าอยู่ดี จึงเป็นสาเหตุหลักให้ผมตัดสินใจคืนสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการท่าเรือฯว่าจะให้ผมทำต่อหรือให้คนอื่นเข้ามาทำแทน”

อย่างไรก็ตาม แม้เจอปัญหามากมายแต่ “โบว์ลิง” ก็เห็นค้านกรณีที่จะมีการขายสิทธิ์ถาวรให้เอกชนรายอื่นเข้ามาทำทีมแทนเพื่อที่ทีมจะได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ “ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ท่าเรือขายสิทธิ์ถาวรให้ผู้อื่น เพราะจะทำให้ทีมไม่หลงเหลือความเป็นตำนานที่เคยมีมา ทุกอย่างเป็นแบบนี้ดีแล้วเพียงแต่บอร์ดบริหารของการท่าเรือฯควรจะมีนโยบายการสนับสนุนที่มากขึ้นและชัดเจนกว่านี้เหมือนที่องค์กรอื่นอย่างเช่น ปตท.ระยอง หรือ เพิ่อนตำรวจ ที่องค์กรหลักพร้อมหนุนหลัง ซึ่งผมเชื่อว่าหากเป็นเช่นนั้นและบวกด้วยศักยภาพผู้เล่นและทีมโค้ชของเราจะทำให้ สิงห์ ท่าเรือ ดีกว่านี้แน่นอน”

ขณะที่ทางฝั่ง ประจักษ์ เวียงสงค์ เฮดโค้ช ทีโอที เอสซี กล่าวถึงปัญหาของทีมที่ต้องพ่วงกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย “ตลอดเวลาที่ผ่านมาทาง บ.ทีโอทีฯ ได้ให้การสนับสนุนทีมด้วยดีมาตลอด ที่เป็นปัญหาอย่างเดียวก็คือการทำงานที่ต้องเป็นไปตามระบบราชการ บางสิ่งบางอย่างจึงอาจต้องใช้เวลาบ้าง เช่น เรื่องงบประมาณและการเบิกจ่าย เนื่องจากต้องรอเป็นไตรมาสทุกๆ 3 เดือนเงินจึงจะออกที รวมถึงการตรวจสอบเอกสารต่างๆ แต่ก็ถือว่ามั่นคงมีงบสนับสนุนที่ชัดเจนมาตลอด พูดง่ายๆว่า มีแน่ แต่ช้าหน่อยเท่านั้น”

ส่วนกรณีกระแสข่าวว่าทีมจะมีการปล่อยเช่าสิทธิ์ให้ผู้อื่นเข้ามาดูแลเพื่อป้องกันการยุบทีมหลังจากที่เกิดการขาดทุนนั้น “โค้ชจักษ์” เผยว่า “ปัญหาตอนนี้ที่เราเจอคือบริษัทแม่เราขาดทุนจึงส่งผลกระทบต่อทีมทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแนวทางใหม่ ซึ่งตอนนี้ผมยืนยันว่าทีมจะไม่ยุบแน่นอน เพราะคาดว่าจะมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนเพียงแต่ยังอยู่ในระหว่างเจรจาว่าจะเป็นรายใด โดยอาจจะให้เข้ามาต่อท้ายชื่อเหมือนอย่าง แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัลฯ แต่ทั้งนี้เราก็จะมีข้อตกลงว่าผู้ที่จะเข้ามาต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องคงชื่อ ทีโอที ไว้แต่หากจะพ่วงท้ายชื่ออื่นเข้าไปด้วยก็ไม่เป็นไร และหลังจากนั้นก็ต้องดูกันต่อไปว่าผู้ที่เข้ามาจะสนับสนุนทีมจริงจังมากน้อยขนาดไหน ส่วนเรื่องจะให้ทีมขายสิทธิ์ไปเลยนั้นผมมองว่าคงทำได้เพราะเราเป็นหน่วยงานราชการ”

เป็นที่ชัดเจนว่าการบริหารทีมในลักษณะที่ยังต้องพ่วงกับหน่วยงานรัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันทีมเข้าสู่การทำงานแบบฟุตบอลอาชีพที่แท้จริงได้ เพราะการดำเนินการเกือบทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับองค์กรแม่เป็นหลัก และหลายครั้งผู้บริหารที่เข้ามาดูแลก็ก้าวขึ้นมาตามตำแหน่งทางราชการไม่ใช่เจ้าของเงินที่แท้จริง เมื่อครบวาระก็ผลัดเปลี่ยนมือ จึงไม่สามารถสานต่อนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งผลถึงการทำทีมในสนามด้วยเช่นกัน
ทีโอที ไม่ยุบทีม แต่ต้องลุ้นต่อ
บางกอกกล๊าส สมหวังหลังซื้อสิทธิ์
แอร์ฟอร์ซ บริหารเองแต่ไม่ดีพอ
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น