ASTV ผู้จัดการรายวัน – ปัญหาความขัดแย้งในวงการลูกหนังไทยนับวันยิ่งทวีความร้อนแรง โดยมูลเหตุสำคัญที่ทุกฝ่ายส่ายหน้าเอือมระอาเกินเยียวยาคือการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินที่ถูกเคลือบแคลงว่าไม่โปร่งใส ซึ่งเมื่อเรื้อรังขึ้นเรื่อยๆ หาทางออกไม่ได้ จึงเกิดประเด็นการ “แยกลีก” ที่เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง แต่สุดท้ายแล้วแต่ละทีมต้องชั่งใจกันว่าสิ่งนั้นจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงคุ้มหรือไม่กับผลที่ตามมา
การแข่งขันฟุตบอล ไทย พรีเมียร์ ลีก ภายใต้การจัดการแข่งขันของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก้าวสู่ฤดูกาลที่ 18 แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อปี 2007 ด้วยการยุบโปรวินเชียล ลีก ที่จัดขึ้นโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผนวกรวมเข้าด้วยกันโดยมี บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด หรือ “ทีพีแอล” เป็นผู้ดูแลการแข่งขัน พร้อมกำหนดเกณฑ์การตกชั้น-เลื่อนชั้น ในระดับ ดิวิชัน 1 และ ดิวิชัน 2 จนส่งให้พัฒนากลายเป็นลีกอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบในปัจจุบัน
ทว่าล่าสุดฤดูกาล 2014 หลายทีมที่ร่วมโม่แข้งต่างเริ่มทนการบริหารจัดการของสมาคมฯและทีพีแอลไม่ไหว จึงได้ออกโรงเรียกร้องถึงมาตรฐานที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินที่ผิดพลาดบ่อยครั้งจนถูกนำไปโยงเป็นประเด็นภายนอกสนาม รวมถึงบรรทัดฐานของบทลงโทษเชิ้ตดำที่ทำหน้าที่บกพร่องของ “เสธ.ตุ้ม” พล.อ.ชินเสณ ทองโกมล ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งและประเมินผลผู้ตัดสินฯ และประเด็นความแตกแยกเริ่มทวีอุณหภูมิ เมื่อ อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี ออกมาเปิดเผยว่ามีคนเคยชักชวนตนให้แยกลีกไปตั้งลีกแข่งขันใหม่ พร้อมเผยว่ามีสิทธิ์เป็นไปได้เช่นกันหากอีก 2-3 ปีปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีลีกใหม่เข้าเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นประโยชน์กับแฟนบอลมากกว่า
อย่างไรก็ตาม “ลีกใหม่” ที่ “เดอะ เซ็นต์” พูดถึงนั้นเคยมีประสบการณ์ให้เห็นมาแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่สโมสรชั้นนำหลายทีมไม่พอใจการทำงานของสมาคมฟุตบอลอิเหนา จึงได้แยกตัวมาจัดตั้งลีกแข่งขันกันเองในชื่ออินโดนีเซีย ซูเปอร์ ลีก (ไอเอสแอล) ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในเรื่องธุรกิจ มีบิ๊กทีมและผู้เล่นคุณภาพสูงรวมถึงแฟนบอลให้การติดตามมากกว่าอินโดนีเซียน พรีเมียร์ ลีก (ไอพีแอล) ที่เป็นลีกของสมาคมฯ แต่ก็นำมาซึ่งการคอร์รัปชัน เนื่องจากมีนักการเมืองและบริษัทพนันอยู่เบื้องหลัง
ที่สำคัญ ลีกใหม่นี้จะไม่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมใดๆ กับทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) ไม่ว่าจะเป็นศึกเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก, เอเอฟซี คัพ หรือรายการอื่นๆ โดยจะเป็นทีมแชมป์จากไอพีแอลเท่านั้นที่ได้สิทธิ์ นอกจากนี้นักเตะจะยังไม่ถูกบันทึกสถิติการเล่นอย่างเป็นทางการในระดับโลก หรือถึงขั้นถูกห้ามลงสนามในนามทีมชาตินั้นๆ เลยทีเดียว เปรียบเสมือนลีกเถื่อนก็ไม่ปาน
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ของ โปรวินเชียล ลีก ก็เป็นเครื่องช่วยเตือนใจอีกแรง เพราะแม้ฝ่ายจัดจะพยายามผลักดันหวังเบียดขึ้นเป็นลีกเบอร์ 1 ของประเทศ ตลอดเวลา 9 ปีที่ถือกำเนิดขึ้นมา โดยทุ่มเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะในยุคนั้นสูงถึง 10 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ทีมไร้อนาคต เป็นได้เพียงแค่แชมป์ในประเทศ ไม่สามารถออกไปวัดฝีมือระดับทวีปได้ นักเตะจึงไม่สนใจที่จะเล่น ก่อนจะต้องยุบรวมในที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสมาคมฟุตบอลฯมาโดยตลอดและถูกหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นโต้โผใหญ่ในการชักชวนเพื่อนร่วมลีกแยกตัวไปก่อตั้งลีกใหม่ กล่าวว่า ตนยังไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ถึงขนาดต้องแยกลีก “ตลอด 5 ปีที่ผมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลไทย พรีเมียร์ ลีก ผมก็พยายามที่จะพัฒนาให้ลีกมีมาตรฐานที่สูงขึ้นโดยตลอด และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มีสปอนเซอร์เข้ามามากขึ้นด้วย จึงยังไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ตอนนี้เรื่องที่ต้องทำคือการแก้ปัญหาผู้ตัดสินและฝ่ายจัดการแข่งขันให้โปร่งใส”
พ้องกับ ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ รองประธานสโมสร บางกอกกล๊าส เอฟซี ที่คัดค้านอย่างชัดเจน “เรื่องนี้ผมว่าไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะลีกใหม่จะไม่อยู่ภายใต้ สมาคมฟุตบอลฯ ดังนั้นจะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอลสโมสรเอเชียและนักเตะต่างชาติที่จะติดปัญหาเรื่องใบรับรองการโอนย้ายผู้เล่น (ICT)”
จากปัญหาต่างๆ ที่ถูกร่ายเรียงออกมาเห็นได้ชัดว่าการแยกลีกนั้นแม้จะมีสโมสรระดับท็อปให้ความสนใจเข้าร่วม แต่คำถามที่ตามมาคือจะยั่งยืนขนาดไหนและมีแต่จะทำให้ฟุตบอลไทยถอยหลังลง จึงเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *