xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไม่อยากให้มี “คอรัปชัน”ในวงการกีฬาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในแวดวงกีฬาต่างประเทศ เรื่องทุจริตคอรัปชัน เป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่างมาก มีข่าวออกมาตลอดปีทั้งเรื่องตัวนักกีฬาเองในรูปของการเลี่ยงภาษี หรือ ในเรื่องของการทุจริตการก่อสร้างสนามกีฬา ที่กำลังจะเข้าสู่พิธีการแข่งขันระดับโลก

อย่างวันก่อน มีข่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้างสนามกีฬาเพื่้อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014ที่จะเริ่มแข่งในเดือนมิถุนายนนี้ ในกรุงบราซิเลีย ได้บานปลายจากงบที่ตั้งไว้เดิมถึง 3 เท่า เป็น กว่า 27,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการคอรัปชั่นที่มีกันอย่างมโหฬาร

ข่าวระบุว่า การทุ่มงบประมาณสร้างสนามฟุตบอลของบราซิลเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่พอใจ และล่าสุดมีการเปิดเผยว่ามีการทุจริตงบประมาณสนามฟุตบอลในเมืองบราซิลเลียถึง 275 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ

งบประมาณในการสร้างสนามฟุตบอลโลกในกรุงบราซิลเลียของบราซิลใช้เงินสูงถึง 900 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 29,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลบราซิลถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนัก เพราะในขณะที่บราซิลเลียไม่มีทีมฟุตบอลในระดับลีกอาชีพ แต่กลับสร้างสนามฟุตบอลมีมูลค่าแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

สนามฟุตบอลในบราซิลเลีย ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมีระบบล้างหลังคาสนามอัตโนมัติ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้งบส่วนมากของงบประมาณทั้งหมด 11,500 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของบราซิล

จากการตรวจสอบจากสื่อบราซิล พบว่าเงินจำนวน 275 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 8,525 ล้านบาท ถูกโกงจากการสร้างสนามแห่งนี้ และบราซิลถูกมองว่าฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนคอรัปชั่น ขณะที่รัฐมนตรีกีฬาของบราซิลยืนยันว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุม และไม่มีอะไรที่หลุดพ้นการตรวจสอบ

ล่าสุดจากการสร้างสนามใหม่ 12 แห่ง งบประมาณบานปลายเพิ่มขึ้นอีก 4,200 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่างบที่ตั้งไว้ในการเสนอตัวปี 2007 ถึง 4 เท่า

ที่ผ่านมา ชาวบราซิลไม่เห็นด้วยกับการทุ่มงบมากมายในการสร้างสนามและสาธารณูปโภค จนมีการประท้วงหลายครั้ง ชาวบราซิลส่วนใหญ่มองว่าบราซิลยังมีหลายอย่างที่ควรพัฒนามากกว่าการสร้างสนาม เช่นระบบการศึกษา สาธารณสุขของคนในชาติ

กลับมาที่บ้านเรา ปลายปีนี้ที่ จ.นครราชสีมา จะมีการจัดการ แข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 นครราชสีมาเกมส์ และกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 33 โคราชเกมส์ ที่คณะอำนวยการจัดการแข่งขัน บอกว่า ตั้งใจที่จะจัดให้เป็นกีฬาระดับสากล

โดยจะเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบหมู่บ้านนักกีฬาให้นักกีฬาเข้าไปแข่งขันเหมือนกีฬาในระดับสากล เช่น กีฬาโอลิมปิก โดยเตรียมหมู่บ้านนักกีฬา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีไว้คอยต้อนรับ โดยจะใช้สนามแข่งขันหลัก 2 สนามคือ สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และสนามกีฬาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ใช้งบประมาณที่ทางจังหวัดฯเตรียมไว้ 300 ล้านบาท บางส่วนมาจาก อบจ.นครราชสีมา 70 ล้าน เทศบาลนคร 70 ล้าน ที่เหลือ อปท. และการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ที่คณะรัฐมนตรีจัดให้แล้ว 100 ล้านบาท

คณะอำนวยการจัดการแข่งขัน บอกว่า “หากไม่พอได้จากการจัดสิทธิประโยชน์?”

ตรงสิทธิประโยชน์นี้ กกท. ได้รับสนับสนุนในรูปแบบเงินสด ผลิตภัณฑ์และบริการ และสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้กับ กกท. ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ โดยจะให้การสนับสนุนเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554-2557 รวมทั้งสิ้น 8 บริษัท โดยสรุปแล้ว สิทธิประโยชน์กลางของ กกท. ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนทั้งหมดจำนวน 8 บริษัท เป็นเงินสด 52,000,000 บาท เป็นผลิตภัณฑ์และบริการ จำนวน 233,221,152 บาท

รวมมูลค่าทั้งสิ้น 285,221,152 บาท ในระยะ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554-2557 โดยนครราชสีมาเกมส์ และโคราชเกมส์ก็จะได้เงินตรงนี้ด้วย!

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดการแข่งขัน บอกว่า ทางเทศบาลนครฯได้เตรียมงบประมาณในการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพให้ทางจังหวัด 70 ล้านบาทเพื่อใช้ในการปรับปรุงเมือง สาธารณูปโภค 34 ล้าน และความสวยงามต่างๆ อีก 36 ล้านบาท

คาดจะใช้งบประมาณคร่าว ๆ 300 ล้านบาท เท่ากับเงินที่“นวนคร โคราช” ใช้กว่า 300 ล้านบาทในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่คนโคราชต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพราะเบื้องต้นเงิน 100 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงซ้อมแซมสนามกีฬา 80 พรรษา ก็ลงมาถึงฝ่ายอำนวยการจัดการแข่งขันแล้ว ถึงขั้นทีมฟุตบอลนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”แกนนำพรรคชาติพัฒนาเป็นที่ปรึกษาอยู่ ก็ออกมาระบุว่า เป็นเงินปรับปรุงสนามเหย้าไปแล้ว หรือเงินงบประมาณอีกกว่า 140 ล้านบาท ที่ อบจ.และเทศบาลนคร อนุมัติมาให้ เพื่อปรับปรุงเมืองและสาธารณูปโภค เช่น ถนนเข้าสู่สนามหรือเข้าสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งในพื้นที่ ต.โพธิ์กลาง หรือ ต.ปรุใหญ่

แม้ “หมู่บ้านนักกีฬา”จะไม่มีการสร้างใหม่ แต่เชื่อว่า จะใช้งบประมารเข้ามาทำการปรับปรุงบ้าง เนื่องจากอาคารหอพักหรือโรงแรม ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็มีความพร้อมตลอดปีอยู่แล้ว

คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ย้ำว่า งบประมาณไม่บานปลายแน่!

อีกด้าน คอรัปชันในตัวนักกีฬาเองในรูปของการเลี่ยงภาษี นักกีฬาชื่อดังถูกเล่นข่าวเลี่ยงภาษีอย่างมาก

ที่ฮือฮามากที่สุดตอนต้นปี เห็นจะเป็นข่าว “อูลี่ เฮอเนส” ประธานสโมสร “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค บิ๊กทีมแห่งศึกบุนเดสลีก้า เยอรมัน ถูกศาลเยอรมัน สั่งจำคุก 3 ปีครึ่ง คดีเลี่ยงภาษี

หรือปีก่อน"จอร์จี้ โปเปสคู" อดีตกองหลังทีมชาติโรมาเนีย ก็ถูกจำคุกข้อหาเลี่ยงภาษีเช่นกัน หรือนักเตะดังบนเกาะอังกฤษ หลายคนก็ถูกศาลภาษี ฟันข้อหาเลี่ยงภาษีกว่า 5 พันล้าน

ทีมฟุบอลใหญ่ๆ ก็ถูกฟันข้อหานี้ เช่นศาลแห่งประเทศสเปนตัดสินตั้งข้อหาหนักทีม บาร์เซโลน่า เรื่องฉ้อโกงละเมิดภาษีในการเซ็นสัญญาซื้อตัว เนย์มาร์ แนวรุกชาวบราซิลมาร่วมทีมเมื่อปีที่แล้วเป็นมูลค่ากว่า 9.1 ล้านยูโร

โดยการสอบสวนแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยักยอกเงินดังกล่าว ซึ่งในคำสั่งของผู้พิพากษาได้ระบุว่าในขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการตั้งข้อหาการละเมิดภาษีที่กระทำโดยสโมสรฟุตบอล บาร์เซโลน่า กับการฉ้อโกงเงินของประชาชนสเปน

อย่างล่าสุด ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ ลีกฤดูกาลปัจจุบันเจอข่าวร้ายนอกสนาม หลังทาง Sky Sports สื่อสำนักดังของประเทศอังกฤษรายงานข่าวว่าพวกเขาเตรียมโดนโทษปรับเงิน 50 ล้านปอนด์ กับการจำกัดขุมกำลังนักเตะให้เหลือเพียง 21 คนในการสู้ศึกฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกฤดูกาลหน้า โดยเป็นความผิดฐานละเมิดกฎแฟร์เพลย์ทางการเงินและยังมีข่าวว่า อีก 8 สโมสร ชื่อดังก็เตรียมถูกพิจารณาลงโทษกรณีเช่นกัน

“กฎแฟร์เพลย์ทางการเงิน” กฎนี้ก็คือเครื่องมือที่ ยูฟ่า จะเอามาใช้ควบคุมไม่ให้สโมสรต่าง ๆ ใช้เงินแบบเกินตัว และถ้าทีมไหนทำตามกฎไม่ได้ก็จะโดนลงโทษซึ่งรวมถึงการโดนตัดสิทธิห้ามลงแข่งขันฟุตบอล ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยูโรป้าลีก

คำว่าเกินตัว ก็คือ ยูฟ่า กำหนดเลยว่าแต่ละสโมสรที่จะเข้าแข่งขันฟุตบอลยุโรป จะต้องมีรายจ่ายไม่มากไปกว่ารายได้ในส่วนของธุรกิจฟุตบอล อาทิ ค่าผ่านประตู, เงินที่ได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน

กลับมาที่ประเทศไทย แม้ไม่มีกรณีเช่นเดียวกับต่างประเทศที่ค่าตัวเขามหาศาลจนอาจจะถูกมองไปว่า เป็นการเลี่ยงภาษี

ในประเทศไทย กรมสรรพากร มีคำสั่งจัดเก็บภาษีนักกีฬา เช่นเดียวกับนักแสดงที่เป็นบุคคลสาธารณะ คำสั่งที่ 102/2544 เรื่องการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะ ไม่ว่าจะเดี่ยว หรือหมู่คณะ

รวมไปถึง “ค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง” รวมไปถึงบัตรดูฟุตบอลแต่ละนัด เงินได้อื่นที่ได้จากการจัดให้มีการการแสดงของนักแสดง นักกีฬาสาธารณะหรือค่าจ้างในการจัดให้มีการแสดง เงินได้เหล่านี้จัดอยู่ในประเภทเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

บัตรชมฟุตบอลแต่ละนัด จะนำมารวมยอดจำนวนผู้เข้าชมแต่ละสนามใน 1 ฤดูกาลหรือไม่ แล้วแต่กรมสรรพากรกำหนด แล้วเอายอดรวมไปชำระเป็นภาษีรายปีของแต่ละทีม

ทราบจากสโมสรฟุตุบอลไทย บางแห่ง นักฟุตบอลจะเสียภาษีต่อปี 32% หรือ 38% บางสโมสรจะหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่บางสโมสรก็ไม่แจ้งให้นักบอลทราบว่าหักหรือไม่ บ้านเรามีลีกฟุตบอลอาชีพ 3 ลีก

เรื่องนี้นักฟุตบอลเงินรายได้มาก ๆบางคน พอตอนโดนเก็บย้อนหลังก็ถูกเก็บหลายหมื่นบาท แตกต่างจากลีกอังกฤษ ที่ต้องเสียภาษีเอง 50% ของรายได้ เช่น รับ สัปดาห์ละแสนปอนส์ ก็ได้แค่ 5 หมื่นปอนส์ เป็นต้น

เชื่อว่า นักฟุตบอลในลีกประเทศไทย คงไม่มีใครกล้าที่จะเลี่ยงภาษี หรือเสี่ยงทำอะไรกระทบกับอาชีพของตัวเองแน่

หรืออย่างเรื่อง “ยอดจำนวนผู้เข้าชมแต่ละสนาม แล้วเอายอดรวมไปชำระภาษีรายปี”แฟนบอลหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละสัปดาห์จะมีแฟนบอลเข้าชมในสนาม ถ้าเล็กๆก็หลักพันคน ถ้าใหญ่ๆก็หลักหมื่นคน บางสนามจุคนดูได้หลักหมื่น แต่ประกาศจริงๆหลักพันปลายๆ เช่น สนามจุ 10,000คน ประมาณการโดยสายตาแล้ว เกือบเต็มสนามเก้าอี้ไม่ว่างเลย ที่ยืนก็ไม่มี แต่โฆษกสนามประกาศเฉย คนซื้อตั๋วมาดู 7,000 คน เอะยังไง เลี่ยงภาษีหรือเปล่า! เพราะถ้าเซฟตรงนี้ได้ ก็น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโข

ต้องบอกว่า เป็นแค่ข้อสังเกตนะ ไม่ใช่ความจริง.




กำลังโหลดความคิดเห็น